ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์

0
627

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงกว่า -1.54% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ล่าสุดส่งผลให้มีผู้ประท้วงต่อต้านมาตรการ Zero COVID ในหลายเมืองใหญ่ โดยความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ราคาหุ้น Apple ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -2.6% หลังการผลิตไอโฟนอาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 และการประท้วงในจีนดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังกังวลว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังน่ากังวลอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงาน กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง (Exxon Mobil -3.0%, Chevron -2.9%)

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.65% ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการประท้วงในจีน ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานของยุโรปต่างปรับตัวลงเช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ (Total Energies -1.2%, Equinor -1.1%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ ECB จนกว่า ECB จะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อสูงได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.6 จุด ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับดังกล่าว อาจส่งผลให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมการระบาดในจีน โดยจุดที่น่าสนใจ คือ ท่าทีของรัฐบาลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า หากการประท้วงทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางการจีนก็อาจส่งสัญญาณประนีประนอม โดยอาจมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มมากขึ้นได้ หรือ การผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าคาดภายในต้นปีหน้า อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลว่า สถานการณ์การระบาดที่ยังคงน่ากังวลและอัตราการฉีดวัคซีนในจีนที่ไม่สูงมากนัก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนเชื้อตาย) อาจทำให้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์การระบาดในจีนเลวร้ายลงได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทผันผวนอย่างเห็นได้ชัดจากประเด็นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการประท้วงในจีน ทำให้เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ในระยะสั้น หากบรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อไป นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวก็มีส่วนที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำถึง 88%) อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าหนักมากจนทะลุ โซนแนวต้านแถว 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายนัก เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่ได้เทขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราเคยคาดการณ์ไว้ กลับกันบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังได้หนุนให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนเดินหน้าซื้อบอนด์ระยะยาวของไทยเพิ่มเติมในวันก่อนหน้า (ยอดซื้อสุทธิบอนด์ระยะยาว +1.5 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจน เพื่อรอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในวันพุธนี้ ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดการเงินมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้นได้

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.90 บาท/ดอลลาร์