ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ “Thailand Insurance Symposium 2022” ภายใต้แนวคิด “Thai Insurance Industry at Crossroads: Digitalization, Cyber Risk and Sustainable Growth” จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจัดในรูปแบบ hybrid มีผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา คู่ขนานกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ online
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันภัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดถึงการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ จากสภาวการณ์ของธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
ซึ่งในการสัมมนามีการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ได้รับรางวัลของนักศึกษาหลักสูตร วปส. 10 และการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำจากหลากหลายวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และให้ข้อเสนอแนะระหว่างกัน เพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยและประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับบริบทโลกที่ท้าทายภายใต้ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่า ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเชื่อมต่อฐานข้อมูลในโลกไร้พรมแดน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risks) ก่อนหน้านี้คำว่า VUCA WORLD ถูกพูดถึงอย่างมาก แต่โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เรากำลังเข้าสู่ยุค BANI WORLD
ซึ่งเป็นมากว่า “สถานการณ์” ผันผวน,ไม่แน่นอน,ซับซ้อน,คลุมเครือ ที่ถูกพูดถึงใน VUCA แต่จะเป็นการมองไปถึง “ผลกระทบด้านอารมณ์ของคน” ด้วย BANI WORLD ประกอบด้วย B คือ Brittle เปรียบเสมือนโลกที่เปราะบาง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจอาจถูก Disrupt ได้ตลอดเวลา A คือ Anxious เปรียบเสมือนโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลตลอดไป แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสินใจก็ตาม N คือ Nonlinear เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง ในขณะที่โลกดำเนินไปจะมีปัจจัยแทรกซ้อนหรือสถานการณ์อื่น ๆ เข้ามาส่งผลกระทบแบบที่เราไม่รู้มาก่อน การคาดเดาจึงเกิดขึ้นได้ยาก เราจึงไม่สามารถมองเห็นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และ I คือ Incomprehensible เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีความชัดเจน อาจต้องใช้สัญชาตญาณช่วยในการหาคำตอบและทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ BANI World จึงเปรียบเสมือนเป็นการรวบรวมเอา VUCA World, Digital Disruption, สังคมสูงวัย และโรคอุบัติใหม่ ๆ เข้ามาไว้รวมกัน จนทำให้โลกของเราเป็นโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล เข้าใจได้ยาก และไม่สามารถคาดการณ์ได้ เราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร นั่นเป็นคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบไปด้วยกัน และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบประกันภัยเป็นกลไกในการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบ และเป็นเหตุผลที่ธุรกิจประกันภัยอยู่บนทางแยกที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่นี้
สำหรับผลงานทางวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. 10 ที่มีการนำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการครั้งนี้ คือ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดีเด่น” เรื่อง แนวทางการทำประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้นำเสนอ คือ คุณกฤดา กฤติยาโชติปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร กรมสรรพากร และได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดี” โดยผู้นำเสนอ คือ คุณกฤตยา รามโกมุท ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกิจการทั่วไป บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด, คุณนัทธกัญญ์ แซ่ก้วย ผู้อำนวยการอาวุโสเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ คุณทวีพงษ์ เกียรติธนะบำรุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไพศาลกิจ (1995) จำกัด เรื่อง การพัฒนา Digital Game เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ชมเชย” มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง การศึกษากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยใช้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบเป็นกรณีศึกษา” และเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่สังคมสูงวัย (Silver Smile) ซึ่งในโอกาสนี้ ได้มีการมอบรางวัลผลงานวิชาการทั้ง 4 รางวัลด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงาน คปภ. ภายใต้โครงการ “โครงการ InsurTech แพลตฟอร์มส่งเสริมและตรวจสอบการซื้อขายการประกันภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” โดย ผศ.ดร.ณัฐกรณ์ ผิวชื่น มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิจัยดังกล่าว จะเป็นการสร้างนวัตกรรมแอปพลิเคชัน “คปภ. เคียงข้าง” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมและตรวจสอบการซื้อขายประกันภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยตรวจสอบคำพูดระหว่างการซื้อขายกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีแนวโน้มกระทำผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ทั้งในกรณีผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เปรียบเสมือนมี คปภ. อยู่เคียงข้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัย ในขณะเดียวกันผลงานชิ้นนี้ยังมีความสอดคล้องและต่อยอดกับสิ่งที่สำนักงาน คปภ. กำลังดำเนินการเกี่ยวกับระบบรายงานพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้เชื่อมกับฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ โดยจะนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉล เพื่อดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงทีและลดโอกาสเกิดการฉ้อฉลประกันภัย
สำหรับการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศและวิทยากรต่างประเทศ ได้แก่ หัวข้อ “Initiative to Promote Cyber Insurance Case Study of the Philippines” โดย Mr. Alexander Reyes, Ex-senior Vice President, National Reinsurance Corporation of the Philippines (NatRe) หัวข้อ “ESG recent development in Insurance Sector & What does matter to us here?” โดย Mr.Johann Dutoit, Chief Investment Officer, AIA Thailand และ Mr.Duncan Lee, Director, Investment Environmental, Social & Governance, Group Investment, AIA Group และ หัวข้อ “Insurance Reimagined by Showcasing Transformation with Digital Technologies” โดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง, หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มธุรกิจ บริการทางการเงิน บริษัท PwC (ประเทศไทย) จำกัด
“การจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ “Thailand Insurance Symposium 2022” ในครั้งนี้มีความโดดเด่นกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากหัวข้อที่มีการนำเสนอเป็นประเด็นที่ร่วมสมัย และสอดคล้องกับบริบทใหม่ของระบบประกันภัยของไทยที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการรองรับความเสี่ยงที่อุบัติใหม่ และเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งจากภาคธุรกิจประกันภัย ภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคธุรกิจอื่น แลกเปลี่ยนมุมมองและเชื่อมต่อการทำงานผ่านการสร้างพันธมิตรในการประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยและเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ต้องขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัลซึ่งจะมีการนำไปต่อยอดขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย