ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.91 บาทต่อดอลลาร์

0
646

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง หลังจากที่ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดสาย “Hawkish” ต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟด เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับทิศทางดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.31%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.42% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ในจีนที่ยังน่ากังวล และแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงิยเฟ้อให้สำเร็จ ได้กลับมาหนุนให้ บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 3.77% สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่แนะนำว่า นักลงทุนไม่ควรไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยีลด์ปรับตัวลดลง และควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนในพร้อมรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักในปีหน้า ซึ่งเรามองว่า ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน หรือ ข้อมูลเงินเฟ้อ ยังคงสนับสนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจเกินระดับ 5% และจุดที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ การประชุมเฟดเดือนธันวาคม ซึ่งเฟดจะประกาศคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด และแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 106.7 จุด นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,762 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงาน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น ซึ่งหากเงินเฟ้อมีทิศทางเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจสนับสนุนให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในอนาคตได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทเริ่มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ในฝั่งของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เราเห็นแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นจากหุ้น บอนด์และค่าเงิน ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทย ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในระยะสั้น นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน รอเข้าซื้อทองคำ ในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะ หากราคาทองคำ ปรับตัวลงใกล้โซนแนวรับ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ อาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้
อนึ่ง แม้ว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อ แต่เราประเมินว่าแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่าบรรดาผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในโซนดังกล่าว

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่าน ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาท/ดอลลาร์