กระทรวงศึกษาธิการ ชูแผนยุทธศาสตร์ ‘ซ่อม สร้าง ป้องกัน’ พร้อมยกระดับการศึกษาทุกมิติ พัฒนาเยาวชนไทยอีกขั้น

0
1217

กระทรวงศึกษาธิการ ชูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งพัฒนาการศึกษาไทยใน 3 ด้าน คือ ‘ซ่อม สร้าง ป้องกัน’ โดยการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ซ่อม) การสร้างโอกาสทางการศึกษา (สร้าง) และการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา (ป้องกัน) พร้อมดำเนินงานสู่กลุ่มเป้าหมาย 3 ส่วน ได้แก่ นักเรียน ครู และโรงเรียน ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยยกระดับการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและทำให้การศึกษามีความพร้อมและก้าวไปพร้อมเศรษฐกิจ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการพัฒนาการศึกษา ภายใต้แนวคิด ‘ซ่อม สร้าง ป้องกัน’ เพื่อยกระดับการศึกษาในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นต่อยอดจากโครงการเดิม พร้อมด้วยดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ ได้แก่ 1) โครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาและเศรษฐกิจ จึงทำให้มีเยาวชนไทยบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา สูญเสียโอกาสการเรียนรู้ 2) โครงการ MOE Safety Center เกิดจากปัญหาความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา จึงสร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนส่วนกลางขึ้นมา เพื่อให้สามารถเข้าถึงทุกปัญหาทั่วประเทศได้แบบเรียลไทม์ 3) โครงการ CVM และ Excellent Center ซึ่ง CVM เป็นการต่อยอดมาจาก Excellent Center โดยการเป็นเหมือนศูนย์กลางระหว่าง Excellent Center ของหลักสูตรสาขานั้น ๆ กับภาคเอกชน ในการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและอบรมครูให้มีความรู้ที่ทันต่อยุคสมัย 4) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถมีเวลาทุ่มเทกับห้องเรียนและจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น และ 5) โครงการโรงเรียนคุณภาพ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากปัญหาของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถจัดสรรให้ครอบคลุมทั่วถึงไปยังโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งได้ จึงมีแนวคิด ‘Sharing resources’ คือการแบ่งปันทรัพยากรและแหล่งข้อมูลร่วมกัน โดยส่งเสริมให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อเป็นเสมือนโรงเรียนแม่ค่าย สามารถแชร์ทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับโรงเรียนเครือข่ายของตน สร้างให้เป็นโมเดลต้นแบบได้ในอนาคต และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเยาวชนได้อย่างเห็นผลและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“กระทรวงศึกษาธิการมีแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้เหมาะกับโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยในช่วงนั้นรัฐบาลได้อนุมัติเงินเยียวยา 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง เป็นวงเงินรวมกว่า 2 พันล้านบาท และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มเงินเรียนฟรี 15 ปี โดยเป็นการปรับอัตราให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีการปรับมากว่า 10 ปีแล้ว นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการทบทวนและเตรียมเสนอเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวัน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกัน เอื้อสำหรับนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

สำหรับปัญหาด้านการศึกษาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน คือ การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นที่มาของโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเราก็ได้ดึงกลับมาพร้อมป้องกันไม่ให้หลุดซ้ำ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้ทุกช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงผู้สูงวัย เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยสามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การศึกษา นั่นคือความปลอดภัยในสถานศึกษา เราได้จัดทำโครงการ MOE Safety Center ขึ้นมา เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับนักเรียนซึ่งเป็นวัยที่ควรได้รับการปกป้องมากที่สุด ดังนั้น เมื่อตนได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ จึงอยากหยิบเรื่องนี้มาเดินหน้าผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งยังเข้าใจความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างดี จึงนำยกเรื่องความปลอดภัยมาผลักดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความอุ่นใจในการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในระบบการศึกษา และทำให้โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองให้กับเยาวชนได้จริง

การลดภาระงานครู แก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นอีกเรื่องที่ต้องการให้ความสำคัญปรับปรุงแก้ไข เพื่อตัดความกังวลของครูในด้านต่าง ๆ และสามารถคืนครูกลับสู่ห้องเรียน จัดการห้องเรียนให้เยาวชนมีความสุขกับการศึกษา นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณด้านการศึกษาที่มีจำกัด โดยได้แก้ไขจัดการด้วยโครงการโรงเรียนคุณภาพที่ใช้หลักการ Sharing resources ซึ่งต้องเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ รวมไปจนถึงเรื่องการสร้างความคล่องตัวให้การจัดการเรียนการสอนและการบริหารงานก็ได้เอาระบบดิจิทัลมาใช้แก้ไขปัญหา จนเกิดเป็น Learning platform สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และระบบบริหารงานบุคคลดิจิทัล หรือ ระบบ HRMS” นางสาวตรีนุช กล่าวเสริม

การศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเน้นการประสานงานความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมและช่วยกันดูแลเยาวชนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของภาคเอกชนจะเป็นการร่วมมือเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นและมีหลักสูตรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย นอกจากนี้ในภาคชุมชนก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้สืบทอดประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์เป็น Soft power ของชุมชนออกมาได้