ขอนแก่นติดโพลอาเซียน จ.สะอาด-เมืองน่าเที่ยว สสส. ชู ศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะฯ จ.ขอนแก่น ต้นแบบแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่เขตเมือง ต่อยอดขยายพื้นที่เมืองไร้ขยะใน กทม. ภายใน 2565 มุ่งขับเคลื่อนไทยสู่สังคม Zero Waste

0
1062

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ที่เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 24.98 ล้านตัน ในจำนวนนี้6.23 ล้านตัน หรือ 25% กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเสียจากขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ สสส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้ริเริ่มโครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 โดยพบว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองมีปริมาณขยะตกค้างอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 8 ของประเทศ ทำให้เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน พัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการบูรณาการร่วมกัน เป็นพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน 1.ชุมชนการเคหะ 2.ชุมชนบะขาม 3.ชุมชนโนนหนองวัด1 4.ชุมชนเหล่านาดี12 5.ชุมชนโนนชัย1 นำไปสู่ต้นแบบการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน เกิดพลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ซึ่งชุมชนมีต้นทุนในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาวะเชิงพื้นที่ด้วยตนเอง การลงพื้นที่ของ สสส. ในครั้งนี้ จะนำตัวอย่างบทเรียนการจัดการขยะระดับชุมชนไปขยายผลในพื้นที่เขตเมือง ร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป

นายมนตรี สิงหปุณณภัทร รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่น ใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของประเทศ มีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองนครขอนแก่นกว่า 400,000 คน การเจริญเติบโตของเมืองได้ส่งผลต่อสถานการณ์การเกิดขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลเมืองนครขอนแก่น มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดที่โรงงานไฟฟ้าขยะประมาณ 400 ตันต่อวัน เกิดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน 40 ล้านบาทต่อปีและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเข้าร่วมโครงการของ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ ทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs เปลี่ยนขยะเป็นบุญ ลดปริมาณขยะที่ต้องจัดการ ทำให้ในปี 2565 เทศบาลนครขอนแก่น ได้รับการยกระดับเป็น เมืองท่องเที่ยวสะอาด ตามข้อกำหนดที่อาเซียน 7 ด้าน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นางพรรณา อรรคฮาต ประธานชุมชนโนนชัย 1 กล่าวว่า การดูแลรักษาความสะอาดตามถนน ตรอก ซอยในพื้นที่ชุมชนโนนชัย 1 ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิถีพอเพียง ในจัดการขยะ 4 เรื่อง 1.ขยะอินทรีย์ แกนนำชุมชนจะเก็บรวบรวมบางส่วนนำมาเลี้ยงปลา อีกส่วนทำน้ำหมักจุลินทรีย์-ปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปใช้ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน ช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน 2.ขยะรีไซเคิล

จัดตั้งกลุ่มกองทุนฌาปนกิจขยะเป็นบุญ รับซื้อขยะจากสมาชิกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ผลิตกระถางและกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการในชุมชน 3.ขยะทั่วไป แกนนำชุมชนจะแจกถุงดำให้ครัวเรือนใส่ขยะทั่วไป กำหนดเวลาทิ้ง-เวลาเก็บที่แน่นอน ตั้งเป้าเป็นชุมชนปลอดถังขยะ และ 4.ขยะพิษ/ขยะอันตราย ตั้งถังขยะรวบรวมขยะพิษ/ขยะอันตรายในพื้นที่กลางชุมชน ส่งผลให้เป็นชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง