sacit ปิดฉากงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ดันหัตถกรรมไทยขึ้นแท่นสินค้าเนื้อหอม กวาดรายได้ทะลุเป้าแตะ 157 ล้านบาท กางแผนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการต่อเนื่อง เดินหน้ารุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” เปิดเผยว่า ในปีนี้การจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงานและเลือกซื้อสินค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและคราฟต์ไทยในขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลาย และทำให้การจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หลังผ่านผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ดี ตลอด 4 วันของการจัดงาน ตั้งแต่ 8-11 กันยายน 2565 มีจำนวนผู้เข้าชมงานรวม 32,430 คน และมียอดการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สูงเกือบ 157 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นผลบวกจากความนิยมสินค้าหัตถกรรมและงานคราฟต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดงานในปีนี้ โดดเด่นในคอนเซ็ปต์ street art ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และการประชาสัมพันธ์งานปีนี้ sacit สร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจสินค้าหัตถกรรมและงานคราฟต์เลือกซื้อสินค้าได้ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์
ขณะที่ภายในงานปีนี้มีผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อ อาทิ เครื่องเงิน, เครื่องทอง, ผ้าไหม, ผ้าฝ้าย, งานจักสานและเครื่องไม้ โดยเฉพาะสินค้างานคราฟต์จาก Crafts Bangkok 2022 ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ ซึ่งพบว่าสินค้า 5 อันดับแรกที่ต่างชาติให้ความสนใจเลือกซื้อ ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จักสาน เครื่องประดับ เซรามิก และของตกแต่งบ้าน ตามลำดับ
ขณะที่ 5 อันดับร้านค้ายอดขายสูงสุดในปีนี้ แบ่งเป็นงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 ได้แก่ ร้านอุษาคเนย์ ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, บ้านทองสมสมัย ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้านคำปุน อุบลราชธานี ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และกลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ ประเภทสินค้างานจักสาน
ส่วนงาน Crafts Bangkok 2022 มี 5 อันดับร้านค้ายอดขายสูงสุด ได้แก่ ร้านบุตรระย้า ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้าน Dhanu ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้านจันทร์หอม ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย, ร้านรังแตน ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย และร้านเชียงใหม่ ประเภทสินค้าเครื่องไม้
สำหรับงานดังกล่าวเป็น 2 งานที่ sacit จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นงานหัตถศิลป์ไทยและงานคราฟต์ร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะรวบรวมฝีมือการสร้างสรรค์ผลงานหัตศิลปกรรมไทยตั้งแต่ชั้นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมถึงผู้ประกอบการงานคราฟต์รุ่นใหม่ไว้ในงานเดียวกัน โดยปีนี้ sacit นำผู้ประกอบการร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ากว่าหมื่นรายการ 650 ร้านค้าจากทั่วประเทศ และตั้งเป้าว่าในปีต่อไปจะผลักดันการจัดงานและส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งการจัดงานในปีนี้ ยังเห็นการตอบรับจากผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าตลาดงานหัตถกรรมและคราฟต์ไทยยังได้รับความสนใจจากคนไทยในการต่อยอดองค์ความรู้ สร้างเอกลักษณ์แก่ผลิตภัณฑ์และต่อยอดเป็นรายได้อย่างยั่งยืน โดย sacit มีแผนที่จะผลักดันสมาชิกให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมแข่งขันในเวทีสากล
นายพรพล เผยด้วยว่า แผนสนับสนุนศักยภาพช่องทางการตลาดให้กับสมาชิกเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ sacit จะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทั้งช่องทางออฟไลน์จากการจัดงานแฟร์ และออนไลน์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดต่างชาติที่ปัจจุบันสนใจผลงานที่มีเอกลักษณ์ นวัตกรรม และความละเอียดในชิ้นงานแบบไทยมากขึ้น เช่น สินค้าประเภทงานไม้ งานจักสาน และงานผ้าไหม ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มลูกค้าจีน ญี่ปุ่น อินเดียและยุโรป
“แผนในปีหน้าเราจะผลักดันผู้ประกอบการออกงานแฟร์ต่างประเทศ และจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching เพื่อสร้างตลาดการค้าแบบไร้พรมแดน โดยตลาดสำคัญขณะนี้ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป เริ่มนิยมในสินค้าจากไทย ซึ่งคาดหวังว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเติบโตได้เป็นเท่าตัว”
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ sacit เน้นย้ำ คือการอนุรักษ์ สืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่คนไทย โดยดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ สู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย กระจายรายได้สู่กลุ่มชาวบ้าน ชุมชนผู้ผลิตงานหัตถกรรม ให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง