พม. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Women and Economy Forum)

0
883

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 65 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Women and Economy Forum) ภายใต้แนวคิด “Women’s Empowerment through the BCG Economy” การเสริมพลังสตรีในทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio – Circular – Green Economy ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีจากกระทรวงหรือหน่วยงานด้านสตรีและเศรษฐกิจจากเขตเศรษฐกิจเอเปค และคณะผู้แทน ได้แก่ ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ และจีนไทเป เข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ ส่วนบรูไนดารุสซาลาม แคนาดา จีน อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก เวียดนาม และรัฐเซีย เข้าร่วมประชุมรูปแบบออนไลน์ อีกทั้งชิลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุมแบบไฮบริด รวมถึงผู้นำระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการเอเปค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค Advisory Council – ABAC) และข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชน รวมประมาณ 100 คน เข้าร่วมประชุม ณ True ICON Hall ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ

นายจุติ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรี หัวหน้าคณะเขตเศรษฐกิจ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ โดยมีเขตเศรษฐกิจ จำนวน 20 เขต ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม ในรูปแบบผสมผสาน (A hybrid format)

ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 137 คน ซึ่งตนขอขอบคุณรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทน และผู้บริหาร เอเปค ที่เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมในวันนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งตนหวังว่าทุกท่านจะมีความสุขในช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยและประทับใจกับการดูแลต้อนรับ ที่ทางรัฐบาลไทยตั้งใจเตรียมการไว้ให้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ได้มาพบปะกันครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญสำหรับการเสริมพลังและความก้าวหน้าของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แผนลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (พ.ศ. 2019 – 2030) วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 แผนปฏิบัติการและเครื่องมือกลไกต่างๆ ที่เอเปคเห็นชอบร่วมกัน

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า การประชุมปีนี้ ภายใต้หัวข้อ การเสริมพลังสตรีในทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Women and the Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งแสดงถึงความสามารถของสตรีในการส่งเสริมเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังผ่าน BCG โมเดล การเสริมโอกาสของสตรีสามารถช่วยให้นำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอยากให้ทุกท่านให้ความสนใจต่อหัวข้อการประชุมเอเปค 2022 คือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล หรือ “Open, Connect, and Balance.” ซึ่งสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ การเปิดกว้างของเอเปคสู่โอกาสด้านต่างๆ การเชื่อมโยงทุกมิติ และสร้างความสมดุลในทุกแง่มุม ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าโลกจะสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ความสำเร็จและความสมดุลและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจหลังโควิด – 19

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ภายใต้การเสริมพลังผู้หญิงผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นให้เห็นถึงความท้าทาย ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศควรเป็นนโยบายหลักและนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ความแตกต่างของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงควรได้รับการแก้ไขให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเหล่านี้สามารถมีโอกาสที่เท่าเทียมและการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ รวมถึงตลาด อีกทั้งสามารถมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำ เข้าสู่การศึกษา และทักษะการพัฒนาในเรื่องดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกได้


ทั้งนี้ ตนขอเน้นย้ำการประสานงาน ความร่วมมือและการสร้างพลังเครือข่าย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดสภาพแวดล้อมของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบครอบคลุมและการสร้างพลังให้กับสตรีทุกคนต่อไป