บีทีเอส กรุ๊ปฯ มุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ร่วมผลักดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608

0
785

นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุนและหัวหน้าฝ่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ เปิดเผยในงาน Asia Pacific Business Forum (APBF) 2022 : Toward an Asia-Pacific Green Deal for Business ว่า บีทีเอส กรุ๊ปฯ

มีความมุ่งมั่นในความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608

นายดาเนียล กล่าวว่า “ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ถือเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางรางแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผลการดำเนินงานที่ทำให้เครือข่ายการขนส่งมวลชนของไทยสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดหาพลังงานทางเลือกและจัดให้มีการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการดำเนินงาน รวมถึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนชั้นดาดฟ้า (Solar PV Rooftop) ของโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ส่วนในด้านก่อสร้างโครงการทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและโครงการต่าง ๆ ภายใต้บีทีเอส กรุ๊ปฯ นั้น เราให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสูงสุด อาทิ การลดมลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากการก่อสร้างและการลดมลภาวะทางเสียงจากการดำเนินงาน เป็นต้น”
ทั้งนี้ นายดาเนียล กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องท้าทายเพราะต้องใช้ทั้งต้นทุน และเวลาในการดำเนินงาน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนถือเป็นเรื่องสำคัญ และภาครัฐเองยังมีความท้าทายในเรื่องการกำหนดกฎระเบียบ และการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดกรอบความรับผิดชอบที่มากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ซึ่งต้องมีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการร่วมลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ นายดาเนียล ยังเสนอมุมมองต่อแนวทางความร่วมมือทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสนับสนุนการจัดหา และใช้งานพลังงานทางเลือก (Renewable Energy Supply & Utilisation) ซึ่งควรมีการสนับสนุนนโยบายและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีแหล่งพลังงานทางเลือกและการใช้งานภายในภูมิภาคมากขึ้น 2. การส่งเสริมแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบต่อการลดผลกระทบ หรือการปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับองค์กรที่มีนโยบายหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 3. สร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันทั้งในด้านองค์ความรู้ และด้านเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค และ 4. สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนร่วมกัน
ทั้งนี้ งาน APBF จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 โดยในปีนี้ APBF 2022 จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2565ณ ESCAP Hall อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และทางออนไลน์ โดยความร่วมมือของ ESCAP Sustainable Business Network (ESBN) หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากทั่วภูมิภาคกว่า 300 คน โดยเป็นเวทีที่แสดงถึงความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนมุมมองการบริหารจัดการรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นแนวคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป