วช. หนุน 3 คีย์แมน เวทีเสวนา ไทยพร้อมขับเคลื่อน BCG เป็นวาระของโลกใน APEC Thailand 2022

0
967

อีกเพียง 3 เดือนข้างหน้า การประชุม APEC Thailand 2022 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนคนไทย และประชาคมวิจัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) จึงได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง APEC Thailand 2022: เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open, Connect, Balance ) ประชาคมวิจัยในวาระสำคัญของประเทศ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ มี 3 คีย์แมน คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คนแรก ผู้อยู่เบื้องหลัง keywords คำว่า BCG และ Thailand 4.0 ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้กำกับดูแลแผนการพัฒนาประเทศจนถึงฉบับที่ 13 และ คุณเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผู้อยู่เบื้องหลังการเตรียม Agenda ทั้งหมดในการจัดประชุม เอเปค ร่วมแสดงความคิดเห็น และ ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า มีความรู้สึกยินดีที่ขณะนี้แนวคิดเกี่ยวกับ BCG มีความตื่นตัวในวงกว้าง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และยังขยายผลมาสู่เอเปค ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า BCG นอกจากจะเป็น National Agenda ยังเป็น Global Agenda และจากการที่ได้มีโอกาสพบปะกับสมาคมนักธุรกิจ ต่างให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะอยากรู้ว่าโลกอนาคตในเชิงธุรกิจจะเป็นอย่างไร ขณะที่วช.ได้ให้ทุนในการขยายผล BCG โดยเห็นว่า BCG ที่จะเป็นหัวข้อในการประชุมเอเปค ไม่ควรจะเป็นเวทีเฉพาะผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงมีโครงการ Youth it charge BCG in Action เกิดขึ้น เพราะจริงๆเด็กๆได้ทำบางอย่างที่เป็น BCG อยู่ในมืออยู่แล้วแต่เขาไม่รู้

“การประชุมเอเปคได้มีโอกาสเรียนกับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีว่า เราน่าจะให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมด้วย จากการได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ในโครงการ Youth APEC BCG มีเยาวชนกว่า 500 คนจาก 20-30 มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค โดยใช้ฐานคืออุทยานวิทยาศาสตร์ของ 5 ภาค เราจะทำ APEC CAMP BCG ที่กรุงเทพฯ ในต้นเดือนหน้า เราเชื่อว่าเด็กมีพลังและมีของอยู่แล้ว ดังนั้นโชคดีที่ได้คุยกับอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ทราบว่าจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอเปคที่จังหวัดเชียงใหม่ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะให้เยาวชนได้ไปนำเสนอในที่ประชุม ทำให้จะไม่ได้เป็นเรื่องของเยาวชนกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เป็นเยาวชนที่เราไปคัดสรรมาจาก 5 ภาค และจะเป็นโอกาสดีที่จะมีการเชิญเยาวชนจาก 20 ภูมิภาคด้วย “

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะ BCG เป็นเรื่องยาวและเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดประโยชน์สำหรับประเทศไทยประเทศเดียวแต่เป็นประโยชน์ของทั้งโลก แต่ BCG ยังต้องมีการวิจัยอีกมาก การวิจัยจะต้องทำแบบเดียวกับการวิจัยระบบสาธารณสุขที่เราประสบความสำเร็จ เรายังขาดงานวิจัยเกี่ยวกับ BCG อีกมาก ภาครัฐจะมีส่วนอย่างไร พูดง่ายๆว่า BCG Ecosystem ยังจะต้องทำอีกมากเพื่อเปลี่ยนไอเดียของ BCG ให้กลายเป็น Policy Innovation คือนวัตกรรมเชิงนโยบาย เป็นนวัตกรรมเชิงการจัดการของภาครัฐ เอกชน หรือเป็นนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ของเยาวชน BCG ถ้าทำดีดีสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดถึง Soft Power นั้นบอกได้เลยว่า BCG จะกลายเป็น Soft Power ของประเทศไทยและเป็นสิ่งที่วิน-วิน กับคนทั้งโลก

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวด้วยว่า ตอนที่คิดเรื่องBCG ทูตยุโรปกว่า 10 ประเทศได้กล่าวกับตนตรงๆ ว่า ความจริงเรื่อง Bio เรื่อง Circular หรือ เรื่อง Green ถ้าแยกส่วนกันแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ มีอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ถักทอ Intergrade เอาเรื่อง B เรื่อง C และเรื่อง G มาเป็นเรื่องเดียวกันที่จะตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำ และ การที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต แต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าเรื่องเหล่านี้ตอนที่นำไอเดียเสนอท่านนายกรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีท่านปิ๊งขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าท่านมีวิสัยทัศน์ของท่านในการรับเรื่องนี้ เพราะตนบอกกับท่านว่า โลกอนาคตเราจะมีจุดขายอะไร เราพูดต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่เศรษฐกิจแบบไหน จะไปสู้กับเทคโนโลยีชั้นสูงไม่มีทาง เอาสิ่งที่เรามีและทำให้ดีจะดีกว่าสิ่งที่เรามีและพระเจ้าให้เรามาคือ Bio Economy แต่มันจะมีเครือข่ายของกลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นตนได้เสนอนายกรัฐมนตรีไปว่า ในอนาคตต้องเน้นเป็น Area Base BCG เป็น BCG เชิงพื้นที่ ดังนั้น BCG จะไม่ใช่ระดับประเทศไปสู่โลกเท่านั้น ยังเป็นจากประเทศไปสู่ภูมิภาค เพราะแต่ละภาคของไทยมีความหลากหลาย สามารถไปสู่ระดับจังหวัด มีทั้งเรื่องเกษตร สมุนไพร และอาหาร มีเรื่องท่องเที่ยว แต่ยังสะเปะสะปะอยู่ การทำ BCG ก็จะเหมือนThailand 4.0 ทำน้อยได้มาก เอาความแตกต่างมาเป็นจุดขายในแต่ละภูมิภาค เลยทำออกมาเป็น BCG Area Base ถ้าเราสามารถทำ Local Startup ได้ในชุมชนจะทำให้บัณฑิตติดถิ่นอย่างแน่นอน ไม่ต้องไปนั่งทำเรื่องบัณฑิตคืนถิ่น พอเสนอท่านนายกรัฐมนตรีไป ท่านก็ปิ๊งและผลักดันให้

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ตนยังได้บอกท่านนายกรัฐมนตรีไปว่าถ้าท่านนายกอยากทำเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแบบจีน จริงๆ สามารถทำในบริบท BCG ได้เลย และถ้าเอาเยาวชนเข้ามา เอาประชาชนในพื้นที่เข้ามาจะมีพลังมหาศาล เรื่องนี้คอนเซ็ปต์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เรากล้าที่จะเอาสิ่งดีดีมาถักทอให้มันมีพลัง แล้วท่านนายกรัฐมนตรี อินกับเรื่องนี้ จากนั้นรองนายกรัฐมนตรี ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ก็รับลูกต่อและขยายผลเป็นเรื่องเอเปค เพราะฉะนั้นจึงเหมือนเราเริ่มคิดการณ์ใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมให้ดี วันนี้เวทีของ วช. เราก็ต้องมานั่งคิดให้ได้ว่า BCG ของเรามีโชว์เคสมากน้อยแค่ไหน เราอาจจะมี แต่ในอนาคตเราต้องมีให้มากกว่านี้ มันหนีไม่พ้นเรื่องของการวิจัย การวิจัยจึงยังต้องทำเรื่องนี้อีกมาก

ด้าน ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1ใน 3 ของโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และรู้สึกชื่นชมแนวคิดของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ในเรื่อง BCG ที่คิดไกลซึ่งถ้าคนไทยมีความเข้าใจและมาทำเรื่องเหล่านี้ ปัญหาโลกร้อนก็จะไม่เกิด เราใช้ทรัพยากรไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดปัญหามลพิษ และเกิดความไม่สมดุลในระบบนิเวศ ดังนั้นถ้าประเทศไทยสามารถวิจัยในเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ถ้าทำได้ทุกเรื่องก็จะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลต้องการ BCG จะเป็นตัวสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับประเทศ และกระทรวงอว. มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สามารถที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไกลได้ ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือทั้งในภาคของเยาวชน เอกชนและภาคธุรกิจ แต่ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้เราจะไม่มีวันเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้เลย ในส่วนของสภาพัฒน์พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ แม้ว่าเราจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้วก็ตาม

ขณะที่คุณเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ฉายฉากทัศน์ของเอเปคในฐานะเป็นเวทีที่เกิดจากการรวมตัวของประเทศต่างๆ รวมเศรษฐกิจมีประชากรเกือบครึ่งของโลก สัดส่วนจีดีพี ร้อยละ 60 ของโลก ทำการค้า ร้อยละ 17 เป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะทางความคิดที่ไม่เคยมีการทำข้อตกลงใดใด แต่จะมาพูดคุย มีโจทย์ที่จะมาหาการแก้ปัญหาร่วมกันทุกปี ซึ่งวันนี้โจทย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยที่ผ่านมาเวทีนี้สามารถคลี่คลายปัญหาทำให้กำแพงภาษีลดลง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและลดความยากจนลง ในเอเปคจะมีกลไกการขับเคลื่อนอยู่ประมาณ 33 กลไก ทุกองคาพยพของเอเปคสามารถศึกษาได้ และเป็นองค์กรที่น่าสนใจ มีการทำงานวิจัยค่อนข้างมาก

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรกเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2535 ครั้งที่สอง ปี 2546 โดยปีนี้มี Keyword คือ Open เพราะถือเป็นมนตราของการประชุมเอเปคที่จะเป็นการเปิดพรมแดนหลังจากช่วงโควิด-19 เราต้องปิดพรมแดน พูดกันในระยะใกล้ไม่ได้ ตอนนี้เป็นจุดที่สิ้นสุดหมดแล้วทุกอย่างต้องเปิดหมด Connect เพราะได้รับบทเรียนว่า ถ้าไม่ connect เศรษฐกิจจะเคลื่อนไปไม่ได้ และ Balance โลกวันนี้เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ไม่มีความสมดุล สังคมโลกไม่ Balance สังคมที่ Balance ต้องให้เวลากับการปฏิสัมพันธ์ให้แก่กัน

“ การประชุมเอเปคครั้งนี้จะต่างไปจากการประชุมทุกครั้ง เพราะได้รับโจทย์มาจาก รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณดอน ปรมัตถ์วินัย ทั้งเรื่อง Climate Change, Green และ BCG โดยเฉพาะเรื่อง BCG ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และไม่เคยอยู่ในซุปเปอร์ไฮเวย์ของเอเปคเลย เคยมีการพูดถึง Green Economy ครั้งแรกเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพในปี 2014 สำหรับประเทศไทย BCG เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนการประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายน เรามุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการแสดงเจตนารมณ์เป้าหมายกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Goals on BCG Economy โดยมีเป้าหมาย 4 ข้อคือ Climate Change การค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน การบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน การบริหารจัดการขยะของเสีย ”

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวในตอนท้ายว่า การวัดความสำเร็จในการจัดประชุมเอเปค เราจะนึกถึงเรือสุพรรณหงส์ และเสื้อผ้าที่ใส่ ไม่อยากให้กลับไปสู่จุดนั้นอีก จุดอ่อนของคนไทยคือเราไม่ค่อยให้ความสนใจกับสาระ ทำให้ถ้าถามว่าเราคุยกันเรื่องอะไรบ้าง จะนึกไม่ออก การขับเคลื่อนเอเปคนอกจากรัฐบาล ส่วนราชการ อยากเห็นภาคธุรกิจ ภาคประชาชน สังคมนักวิชาการและผู้ที่เข้ารับฟังการเสวนา เป็นพลังสำคัญในการ Ekko การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 ของประเทศไทยที่มีความสำคัญ และทุกคนควรมีส่วนร่วมสร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในการทำหน้าที่ครั้งนี้ รวมถึงอยากจะเห็นประชาคมวิจัย และนักวิจัย ทำงานในการกำหนดทิศทางว่าประเทศไทยจะไปทางไหน และประเทศไทยจะได้อะไรจากการประชุมเอเปคครั้งนี้