สำนักงาน คปภ. บังคับใช้กฎหมายจริงจัง เดินหน้าแจ้งความตำรวจเอาผิดผู้กระทำความผิดฐานการฉ้อฉลประกันภัย จำนวน 22 ราย พร้อมใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย

0
1032

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ได้มอบหมายให้ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดด้านประกันภัย จำนวน 22 ราย ต่อ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบ.ปอศ.) หรือ ตำรวจ ECD โดยแบ่งฐานความผิด ดังนี้ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 จำนวน 2 ราย ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย

ซึ่งเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต โดยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ตามมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 รายที่ 3 ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) หลอกลวงขายกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 ในข้อหาทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อีกทั้งมีการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัย และ/หรือ เป็นตัวแทนประกันภัยที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

เพื่อชักชวนชี้ช่องให้ประชาชนทำกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งปลอมแปลงและใช้หนังสืออนุญาตว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตการขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และกระทำการปลอมแปลงและใช้ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต รายที่ 4 คือ บริษัท ซีเอสที 2019 (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา กระทำการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัย และ/หรือเป็นตัวแทนประกันภัยที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อชักชวนชี้ช่องให้ประชาชนทำสัญญาประกันภัย อันเป็นความผิดตามมาตรา 63 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 99 และกรณีกระทำการฉ้อฉลประกันภัย อันเป็นความผิดตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 สำหรับรายที่ 5-22 ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารดังกล่าว เพื่อเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต

โดยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ตามมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้านประกันภัยในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กฎหมายตามพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีแรก มีการหลอกลวงให้ผู้อื่นทำประกันภัย กรณีที่ 2 เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเป็นเท็จ และกรณีที่ 3 ให้เรียกรับ ทรัพย์สิน เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในการปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้สำนักงาน คปภ. ได้ออกระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ศ. 2564 และได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคดีฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้แทนและผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ซึ่งเลขาธิการแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย คดี นิติวิทยาศาสตร์ หรือการฉ้อฉลประกันภัย เป็นกรรมการ โดยมีอำนาจในการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัยหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้ว ก็จะเสนอต่อเลขาธิการ คปภ. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ออกประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2564 และ ประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย โดยให้บริษัทส่งรายงานเป็นรายไตรมาส ผ่านทางเว็บไซต์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนด (Smart OIC) ระบบการแจ้งรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย โดยในแต่ละประเภทจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัย และพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เช่น กรณีที่บริษัทเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นฉ้อฉลประกันภัย บริษัทสามารถรายงานเข้ามาในระบบโดยแบ่งประเภทเป็น ประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อให้สำนักงาน คปภ. ทำการตรวจสอบ และเมื่อมีการรายงานผ่านระบบฉ้อฉลประกันภัย ระบบดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยใช้ (Artificial Intelligence : AI) มาประมวลผลเพื่อแยกแยะพฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัยหรือพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย ต่อจากนั้นทีมฉ้อฉลประกันภัยจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่ปรากฏ หากเห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองคดีฉ้อฉลประกันภัยพิจารณาก็จะนำเข้ามาสู่วาระพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

“การร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ เพื่อบังคับใช้บทบัญญัติในเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉวยโอกาส โดยการดำเนินการมีกระบวนการกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบและมีการนำเทคโนโลยี AI ที่ทันสมัยมาตรวจสอบและวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผิดปกติที่อาจเข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัย ดังนั้น จึงฝากเตือนผู้ที่คิดจะทำการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในเรื่องประกันภัย ว่าหากมีการกระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย