วช.เผยผลวิจัยจากกรมสุขภาพจิตชี้ตัวเลขเด็กติดเกมและมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงพุ่งในช่วงสถานการณ์โควิด

0
1432

วช.หนุนทีมวิจัยจาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อและเกมในเด็กและเยาวชน ในช่วงสถานการณ์การโควิด – 19 ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแบบ ( New normal ) เด็กถูกจำกัดอยู่กับบ้าน ไม่สามารถมีกิจกรรมนอกบ้าน และที่สำคัญการเรียนออนไลน์ อาจส่งผลให้เด็กคลุกคลีกับเกมออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมและการทำหน้าที่ครอบครัวในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด ผลวิจัยพบว่าเด็กจะมีพฤติกรรมการอยู่หน้าจอที่มากขึ้น มีความสัมพันธ์กับการเสพติดเกม และพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในเด็กกลุ่มที่
ครอบครัวมีการทำหน้าที่ไม่เหมาะสมซึ่งสถาบันครอบครัวจะต้องเข้ามีบทบาทในการเฝ้าระวังดูแลบุตรหลานของตัวเองก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาทางสังคม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าในฐานะที่เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม โดยบูรณาการร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ

ซึ่งในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 มีผลงานการวิจัยมากมายที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงสังคมและคุณภาพชีวิต ซึ่งผลพวงจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เด็กและเยาวชนที่ใช้ชีวิตกับสื่อออนไลน์มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่งผลโดยตรงมาจากเกมออนไลน์ซึ่งตัวเลขจากการประเมินวิเคราะห์ในพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนของทีมวิจัยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวแรงรุนแรงสูงขึ้น

โดยเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลของผู้ปกครอง ประวัติพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งจะมีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการส่งเสริมการทำหน้าที่ของครอบครัว การเลี้ยงดูที่มีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมในแต่ละภาคแพทย์หญิงโชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น จากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าทีมงานวิจัยได้ให้ผู้ปกครองจากทั้ง 4 ภาค ได้ประเมินพฤติกรรมของเด็กว่าเข้าข่ายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมติดเกมหรือไม่ ซึ่งผลวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรงของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญคือ การเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อแม่ เด็กมีประวัติพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน เด็กมีโรคทางจิตเวช เด็กมีประวัติใช้สารเสพติด มีการทำหน้าที่ครอบครัวไม่ดี โดยภาวะติดเกม เด็กจะมีความบกพร่องในการควบคุมการเล่น ความถี่ ระยะเวลาในการเล่นให้ความสำคัญกับเกมมากกว่าสิ่งที่ต้องทำในกิจกรรมชีวิตประจำวัน จนส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย การเรียนรู้ ด้านอารมณ์ และด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและกับเพื่อน ปัจจัยจากการออกแบบเกมให้มีลักษณะเสพติดได้มากขึ้นหรือลักษณะของเกมที่มีเนื้อหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ปัจจัยด้านจิตวิทยาในเด็กอายุน้อยจะมีโอกาสเสพติด เลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากเกมได้มาก ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ในสังคม ในเด็กกลุ่มที่เข้าสังคมปกติในโรงเรียนไม่ได้ จะเสพติดสังคมออนไลน์ได้มากกว่า และปัจจัยด้านครอบครัวที่มีการใช้เวลาร่วมกันน้อย มีการเลี้ยงดูที่ขาดวินัยเชิงบวก ส่งผลต่อการติดเกมออนไลน์ส่วนแนวทางการป้องกันนั้นผู้ปกครองเองมีส่วนสำคัญในการดูและเฝ้าดูสังเกตพฤติกรรม ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเล่นเกมทุกประเภท

โดยเฉพาะเกมต่อสู้ที่มีภาพและเนื้อหาความรุนแรงเพราะเด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาเล่นเกมให้ชัดเจน พยายามหากิจกรรมอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ให้ลูกทำยามว่าง และถ้าหากมีอาการติดเกมอย่างรุนแรงมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวควรได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยทีมวิจัยได้จัดทำคู่มือเพื่อให้ความรู้เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวในการดูแลเด็กและเยาวชนช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติการดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงพฤติกรรมติดเกม