ธ.ก.ส. เติมทุน 5 พันล้านบาท หนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตกัญชา ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการยกระดับมูลค่าผลผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการในแข่งขัน ชูบุรีรัมย์โมเดล เป็นแบบอย่างในการปลูกและแปรรูปผลผลิตจากกัญชา พร้อมส่งต่อความรู้ด้านการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการแพทย์สู่วิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร
วันนี้ (26 กรกฎาคม 2565) นาย ยุวพล วัตถุ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ ซึ่งดำเนินงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาและส่งจำหน่ายไปยังโรงพยาบาลนาโพธิ์และโรงพยาบาลคูเมือง เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยผ่านการแพทย์ทางเลือก โดยมีคณะผู้บริหาร พนักงานในพื้นที่และเกษตรกรสมาชิก ให้การต้อนรับ ณ วิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ ตำบล คูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
นายยุวพล วัตถุ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า จากการปลดล็อกพืชกัญชา-กัญชง เพื่อสนับสนุนการแพทย์ทางเลือกตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศเหมาะสมในการปลูกกัญชา-กัญชงบางสายพันธุ์ โดยสามารถนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อาทิ ช่อดอก เมล็ด เปลือกลำต้น และราก นอกจากนั้นยังสามารถต่อยอดการแปรรูปกัญชาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น น้ำมันสกัด ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ กระดาษ สิ่งทอ และวัตถุดิบในอาหาร/เครื่องดื่ม เป็นต้น โดยคาดว่า แนวโน้มมูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและขยายไปในหลายธุรกิจ ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้วยการนำร่องเติมทุนสนับสนุนผู้ผลิตกัญชาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อการผลิตกัญชา วงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท
สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมและสหกรณ์การเกษตรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตต้องไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการปลูกพืชกัญชา มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และดำเนินการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operation Procedure : SOP) อัตราดอกเบี้ย MLR + ตามชั้นความเสี่ยง กรณีกู้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการผลิต กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 12 เดือน พิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีกู้เป็นค่าลงทุนในการผลิต กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี และกรณีเพื่อชำระหนี้สินเดิม (Refinance) จากการลงทุนสร้างโรงเรือนและมีหลักประกันจำนอง กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2568
นายยุวพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ อำเภอคูเมือง ซึ่งดำเนินธุรกิจในการปลูกกัญชา แปรรูปกัญชา นำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชา ทั้งในรูปแบบใบชา ยาแผนไทยและแผนปัจจุบัน ภายใต้ “บุรีรัมย์โมเดล” ร่วมกับโรงพยาบาลนาโพธิ์และโรงพยาบาลคูเมือง (Khumuang Hospital Medical Cannabis) ซึ่งเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มีความสนใจและความรู้ในด้านการปลูกพืชสมุนไพรกว่า 50 คน โดยร่วมมือกับไร่อรุณฟาร์มที่เชี่ยวชาญในการปลูกเมล่อนแบบไร้สารพิษ ในการพัฒนาพื้นที่ไปสู่ศูนย์ผลิตสมุนไพรทางการแพทย์ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ อำเภอคูเมือง มีการปลูกกัญชาออร์แกนิคกว่า 4 สายพันธุ์ในระบบโรงเรือนแบบปิด รอบละ 120 ต้น สามารถเก็บผลผลิตได้ทุก 3 เดือน ได้ผลผลิตช่อดอก 15 กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้กว่า 2,250,000 บาทต่อรอบ และการปลูกระบบ Green House รอบละ 120 ต้น เก็บผลผลิตได้ทุก 6 เดือน ได้ผลผลิตช่อดอก 30 กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายได้กว่า 3,000,000 บาทต่อรอบ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในการผลิตและการต่อยอดไปสู่การแปรรูปต่าง ๆ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนได้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดกัญชา ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตกัญชาไปแล้วกว่า 7.1 ล้านบาท และคาดว่าตลาดพืชสมุนไพร ทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นความหวังและโอกาสใหม่ให้กับภาคเกษตรกรรมไทยไปสู่การยกระดับชีวิตเกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG ต่อไป