วช.หนุนนวัตกรรมต้นแบบใช้แอพพลิเคชั่นแก้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 1-5 สิงหาคม ศกนี้

0
1012

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.)ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและสตรี ที่ถือว่าเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญเชื่อมโยงถึงสถาบันครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยให้การสนับสนุนทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นนวัตกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือต้นแบบในการช่วยป้องกันปัญหาการข่มขืนและการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยใช้แอพพลิเคชั่น BeBrave ซึ่งสามารถเข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ทันท่วงที รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา โดยเป็นหนึ่งในนวัตกรรมงานวิจัยที่จะนำมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช ) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่าตัวเลขปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี ในฐานะที่เป็นกลไกของรัฐในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมหรืองานวิจัยโครงการต่างๆเพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาทางสังคมยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โครงการต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน โดยมี รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย นอกจากนี้ยังมีการศึกษารวมไปถึงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับคดีทางเพศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ยังมีการก่อคดีความรุนแรงทางเพศอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

สำหรับที่มาที่ไปโครงการนี้ รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 และคลุกคลีอยู่กับอาชญาวิทยา และได้ศึกษาการแก้ปัญหาจากต่างประเทศมองว่าในบ้านเรายังมีช่องโหว่ในเรื่องมาตรการป้องกันในการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ

ซึ่งตัวเลขคดีข่มขืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ. 2555-2564) ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืนเฉลี่ยวันละ 2 ราย และ 4 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวัน 2.5 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงตัวเลขที่ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูล หากวิเคราะห์ลงไปพบว่าผู้ก่อเหตุเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เช่น ญาติ หรือบุคคลในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ดังนั้นจำเป็นต้องหาแนวทางป้องกันหรือยับยั้งคดีเหล่านี้ โดยได้นำข้อมูลจากประเทศอังกฤษ รวมถึงแนวทางป้องกันจากต่างประเทศที่น่าสนใจและเห็นผลเป็นรูปธรรมมาปรับใช้ เริ่มจากการคิดค้นเครื่องมือต้นแบบเพื่อป้องกันปัญหาอาชญาทางเพศที่เกิดจากคนในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน การศึกษาเปรียบเทียบในข้อกฎหมายในไทยกับต่างประเทศรศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงไอทีได้ง่ายในยุคปัจจุบัน ได้คิคค้นสร้างแอพพลิเคชั่น(Application BeBrave) บนมือถือที่ถือว่าเป็นอุปกรณ์ใกล้ตัวที่สุดไม่ว่าจะเป็นระบบ IOS และ Android มาใช้เป็นเครื่องมือต้นแบบซึ่งมีฟังก์ชั่น ประกอบด้วย BeBrave TV การให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายเป็นละครสั้น โมชั่นกราฟิก วิดีทัศน์ ให้ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ การติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร การนำเสนอความรู้ภาพรวมถึงปัญหาอาชญากรรมทางเพศ งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ระบบช่วยเหลือฉุกเฉินในยามคับขันของผู้ที่ต้องเป็นเหยื่อเพื่อขอความช่วยเหลือด่วน Emergency SOS ซึ่งเพียงแค่กดปุ่มเดียวระบบจะส่งข้อความฉุกเฉินและแชร์โลเคชั่นไปทาง SMS และส่งสัญญาณโทรศัพท์เรียกเข้ากลับไปยังผู้ขอความช่วยเหลือได้ภายใน 1 นาที ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดลองพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในกลุ่มเป้าหมายครอบครัวโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี สอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเอง ให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องเพศอย่างเหมาะสม ส่วนที่โรงเรียนเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและมีบทลงโทษที่ชัดเจน

สำหรับในชุมชนนั้นชาวชุมชนก็ต้องช่วยกับสอดส่องดูแลแหล่งมั่วสุ่ม ที่เปลี่ยว หามาตรการป้องกันเช่น ติดตั้งกล้อง CCTV ไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อลดปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรมทางเพศ การบูรณาการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยป้องกันปัญหา ระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ขณะเดียวกันจะศึกษาในบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบันว่าสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาหรือไม่เพื่อยับยั้งการก่อเหตุคดีทางเพศ

อย่างไรก็ตามในอนาคตทาง รศ.ดร.สุณีย์ กล่าวว่าจะมีการต่อยอดเครื่องมือตัวนี้ให้เชื่อมโยงกับองค์กรของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อผนึกกำลังกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแอพพลิเคชั่นนี้เพิ่มเติมสามารถ ไปชมได้ที่มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 Thailand Research Expo 2022 ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ.โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ