คปภ. จัด “Workshop” พลิกโฉมบทบาท “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ก้าวสู่ Smart Fund

0
1168


• ชูเรือธง แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบภัยจากรถ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิทัลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นในการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ ห้องประชุม Shanghai ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากสายงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สายกลยุทธ์องค์กร สายกฎหมายและคดี สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายบริหาร ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และสำนักงาน คปภ. ภาคทั้ง 9 ภาค ได้มีการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการดิจิทัล แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี และสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินงานและขับเคลื่อนกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยสู่การเป็น SMART FUND ต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเศรษฐกิจที่ผันผวน เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกไปสู่วิถีชีวิตวิถีใหม่อย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อน สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่กำกับและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย จึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศ สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์หรือบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกำกับให้ธุรกิจประกันภัยไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยมีกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่เป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัยหรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีภารกิจหลัก ๆ คือ 1. การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ

เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างสะดวก รวดเร็วและทันท่วงที 2. การบริหารจัดการกองทุนตาม พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ 3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและประกันภัย พ.ร.บ.

ทั้งนี้จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่า กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย มีการบริหารจัดการและมีผลการดำเนินงานที่ดีเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยได้ผลคะแนนตามตัวชี้วัดของกรมบัญชีกลางถึง 4.3414 คะแนน ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ โดยมีจำนวนผู้ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 9,151 ราย คิดเป็นเงินกว่า 179 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ต้องดำเนินการในเชิงรุก เนื่องจากจำนวนอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นในทุกปี

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนฯ บรรลุผลสัมฤทธิ์สูงสุด กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงต้องมีการปรับปรุงงานจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและการไล่เบี้ยเรียกคืน ซึ่งเป็นภารกิจหลักให้มีประสิทธิภาพ โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้วางรากฐานการดำเนินงาน การจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการให้บริการประชาชน โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ในส่วนของบุคลากรกองทุนซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ต้องมีการกำหนดโครงสร้างและภารกิจของบุคลากรกองทุนให้ชัดเจน รวมทั้งควรพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีทักษะความชำนาญในงานอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการวิเคราะห์งาน และมี Digital Skill เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตรหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด อีกทั้งในส่วนของการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งยังเป็น Pain Point ที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนรถทุกประเภทที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศกว่า 42.79 ล้านคัน โดยเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 33.21 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 77.61 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมด และโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีการจดทะเบียนสะสม จำนวน 22.02 ล้านคัน แต่มีรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 14.21 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 64.53 และจากสถิติการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 พบว่า มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวนสูงถึง 105 ล้านบาท จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ดังนั้น กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด ซึ่งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาเป็นที่ปรึกษาในการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน ให้คำแนะนำในการกำหนดทิศทางและจัดทำแผนฯ ให้มีความชัดเจนสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับขั้นตอนหลังจากประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในครั้งนี้แล้วจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย (Board Retreat) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนนำเสนอร่างแผนฯ ดังกล่าว ต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการบริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

ซึ่งจะได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์การดำเนินงานกองทุนฯ ที่ชัดเจน และจะมีการประชุมเพื่อสื่อสารแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ฉบับสมบูรณ์ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อไป

“การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นในการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีความสำคัญในการพลิกโฉมบทบาทของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Fund มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น และช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบภัยจากรถ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง ยั่งยืน ด้วยระบบดิจิทัล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย