บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักหรือถดถอย จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนมิถุนายน ที่ดิ่งลงแตะระดับ 98.7 จุด แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ 100 จุด และนับเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี 2021 ซึ่งความกังวลดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Amazon -5.1%, Meta (Facebook) -5.2%, Tesla -5.0% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.98% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.01%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 สามารถปรับตัวขึ้น +0.27% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Total Energies +1.3%, BP +1.3% ที่ได้รับอานิสงส์จากการรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมองว่าตลาดน้ำมันจะยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว นอกจากนี้ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ ก็ได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มการเงินที่เน้นธุรกิจในฝั่งเอเชียและหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวสูงขึ้น อาทิ HSBC +1.3%, Dior +0.7%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักหรือถดถอย ยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ว่าระหว่างวันจะมีการปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.25% ก็ตาม เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้าซื้อ (Buy on Dip) กอปรกับภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกลับสู่ระดับ 3.18% อีกครั้ง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กลับมาหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 104.5 จุด อีกครั้ง นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นอุปสรรคต่อราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลง แม้ว่าตลาดจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงก็ตาม โดยล่าสุดราคาทองคำแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำย่อตัวลงต่อ แต่ไม่หลุดโซนแนวรับสำคัญแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่าจะมีแรงซื้อ Buy on Dip ทองคำกลับเข้ามาช่วยพยุงราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง รายงาน GDP ไตรมาสแรก นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนา ECB Forum in Sintra เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักหรือถดถอย และทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวนอยู่สูง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยังคงหนุนความต้องการเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดดภัย และเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดเริ่มมีความหวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หลังทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการกักตัว ทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มคาดหวังว่า นักท่องเที่ยวจีนอาจเริ่มกลับมาประเทศไทยได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว คือ สิ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในวันก่อน
ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งมาจากความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อาจไม่ยั่งยืน เนื่องจากผู้เล่นที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า อาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรเงินบาท หากเงินบาทแข็งค่าแตะโซนแนวรับแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง เราประเมินว่า ยังเร็วเกินไปที่ทางการจีนจะเปิดให้ชาวจีนสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อย่างสะดวก (เราประเมินว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนอาจเกิดขึ้นได้ หลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายปี)
อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.05-35.25 บาท/ดอลลาร์
___________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย