กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังโควิด 19 ในไทย พบ BA.4 และ BA.5  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารุนแรงขึ้น

0
1201

วันนี้( 24 มิ.ย.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ ว่า โควิด 19 สายพันธ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจัดให้ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ในหลายประเทศพบสัดส่วนของ BA.5 เพิ่มขึ้น 

    จากการสุ่มเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ขณะนี้ ร้อยละ 53.79 ยังคงเป็นเชื้อ โอมิครอน BA.2 รองลงมา คือ โอมิครอน BA.4/BA.5 ร้อยละ 45.71 และร้อยละ 0.51 เป็นเชื้อโอมิครอน BA.1

    โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 22 มิถุนายน 2565 สุ่มพบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย จากการตรวจเบื้องต้น 181 ราย ซึ่งมีการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) และรายงานเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID 81 ราย ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุด ทำให้จำนวนรวมตั้งแต่ 14 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน พบ BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทยแล้ว 214 ราย ซึ่งต้องดูแนวโน้มไปอีก 2 3 สัปดาห์ต่อจากนี้  โดยจะร่วมมือกับกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักเข้ารักษาในโรงพยาบาลขอให้ส่งตัวอย่างเชื้อมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากต่อจากนี้มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็อาจจะต้องทำให้มีการพิจารณามาตรการบางอย่างที่เข้มขึ้น 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พบการกลายพันธ์ในสายพันธ์เดลต้า จากข้อมูลพบว่ามีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ส่วนความรุนแรงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลจากผลวิจัยทางห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 ทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ 

ในหลายประเทศ พบการเพิ่มจำนวนของ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วน BA.4 และ BA.2.1.2 มีแนวโน้มลดลง ส่วนอัตราการแพร่เร็วของสายพันธุ์ BA. 4 และ BA.5 ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบชัดเจนว่าสายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าเดิม ประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ BA.2 เป็นการพบในห้องปฏิบัติการ โดยพบอีกว่า แอนตี้บอดี้ทำลายเชื้อ BA. 4 และ BA.5 ได้น้อยลง ส่งผลทำให้ยารักษาบางชนิด ที่ต้องตอบสนองกับยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงไปด้วย

ทั้งนี้ คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ อาจจะติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์ BA .4 และ BA.5 ได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้ร่างกายมีภูมิสู้กับเชื้อได้ดีกว่าคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นการมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังมีความจำเป็น ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากากในสถานที่แออัด การล้างมือ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ขออย่าตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID โดยไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล