ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
1325

ตลาดการเงินโดยรวมผันผวน ก่อนที่จะพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่รายงานการประชุมเฟดล่าสุดในเดือนพฤษภาคม (FOMC Meeting Minutes) ได้ระบุว่า เจ้าหน้าเฟดต่างเห็นชอบที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในการประชุมสองครั้งถัดไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ก่อนที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่ง ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเฟดสามารถทำให้เกิดภาพ Soft Landing ได้ (ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 1950 การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้เกิด Soft Landing ได้ 5 ครั้ง จากทั้งหมด 15 รอบการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือคือภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด)

แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด กอปรกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อาทิ ดัชนี PMI ที่แย่กว่าคาด รวมถึง คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะกลางที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.24% ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า เฟดอาจผ่านจุด Peak Hawkishness ไปแล้ว และเลือกที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Tesla +4.9%, Amazon +2.6%, Facebook +1.4% หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +1.51% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้นได้ราว +0.95% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ Exxon Mobil +2.0%, Chevron +1.6%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.81% หนุนโดยความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังจากที่สถาบันวิจัยตลาด Gfk ของเยอรมนี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies +2.9%, ENI +2.4% รวมถึงหุ้นกลุ่มการงินที่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป (ECB) Intesa Sanpaolo +2.4%, Santander +1.1%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับมุมมองของตลาด และท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดที่เริ่มออกมาสนับสนุนการชะลอขึ้นดอกเบี้ยหลังเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วในช่วงต้นปี ได้ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2.74% ซึ่งเราคาดว่า แนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงผันผวนต่อ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะมีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยอีกครั้ง ผ่านคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด หลังแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจากรายงานการประชุมเฟดล่าสุดเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ตลาดก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้ต้องการที่จะเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อนึ่ง แม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ขยับปรับตัวขึ้นไปมาก แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเดินหน้าทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำทรงตัวที่ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งแข็งค่าขึ้นได้บ้างระหว่างวัน หลังตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็เริ่มทรงตัว หลังแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้ต่างไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำบ้าง หลังราคาทองคำแกว่งตัวใกล้แนวต้านแถว 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ การแข็งเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับมุมมองการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่านั้น ในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าใกล้ระดับ 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจมีการขยับกรอบการเคลื่อนไหวมาสู่ช่วง 34.00-34.40 ในระยะนี้ นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาท/ดอลลาร์

____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย