“ศูนย์วิจัยกรุงไทย” แนะแปลงขยะอินทรีย์วัสดุเหลือใช้การเกษตรเป็น ‘พลาสติกชีวภาพ’ รับเทรนด์ ESG

0
1252

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ผล​  กระทบด้านสิ่งแวดล้อมของขยะพลาสติกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพไทย เพื่อตอบรับเทรนด์รักษ์โลก แนะผู้ประกอบการใช้ขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรจำนวนมาก เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรได้มากถึง 3-12 เท่าแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการขยายศักยภาพการผลิตโดยไม่สร้างภาระให้กับภาคเกษตรเพิ่มขึ้น คาดมูลค่าตลาด PLA และ PHA ของไทย มีโอกาสเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 40% หรือแตะระดับ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2026
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพโลกยังเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการเร่งปรับตัวของภาคธุรกิจตอบรับกับกระแส ESG และลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพทำให้สามารถนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรที่มีมูลค่าน้อย มา Upcycle เป็นพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมี
“หากจะผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA ของไทยให้สามารถผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกได้มากขึ้น การนำขยะอาหารและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นวัตถุดิบ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการขยายศักยภาพการผลิต โดยที่ไม่สร้างภาระต่อภาคเกษตร สำหรับประเทศไทย คาดว่า มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพประเภท PLA และ PHA รวมกันมีโอกาสเติบโตแตะ 1.9 หมื่นล้านบาทภายในปี 2026 นอกจากนี้ การนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่เกิดจากการฝังกลบขยะอินทรีย์และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ และเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับกับเทรนด์ ESG”
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะอินทรีย์จำพวกขยะอาหารจำนวนกว่า 12 ล้านตันต่อปี และมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากถึง 160 ล้านตันต่อปี นับเป็นแหล่งคาร์บอนที่น่าสนใจ หากจะนำมาแปรรูปเป็นสารสำคัญสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA อีกทั้งเป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับพืชอาหารต่างๆ ที่นิยมใช้กัน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย นอกจากจะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชอาหารจำนวนมากเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตของพืชอาหารเหล่านั้นค่อนข้างผันแปรมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในแต่ละปี และที่สำคัญ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้ขยะอินทรีย์จำพวกเศษผักและผลไม้มาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ PLA อาจเพิ่มมูลค่าได้ราว 3 – 12 เท่าเทียบกับการขายเป็นอาหารสัตว์
“แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทางเลือก แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจพลาสติกชีวภาพไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการทำ R&D กับ Partners ที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้แข่งขันกับพลาสติกทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งค้นหานวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ที่สำคัญ สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เร็วและได้จริง ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบและตลาดที่มีศักยภาพรองรับ รวมไปถึงการทดสอบและการขอรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค”