ประกันภัยข้าวนาปี-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เริ่มแล้ว

0
1197

• คปภ. ขานรับมติ ครม. เร่งเดินสายให้ความรู้เกษตรกร รับมือภัยธรรมชาติ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 29 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,925,065,000 บาท นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 224,442,600 บาท
โดยมติ ครม. ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2565 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2565 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2565 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2565 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
3) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
ส่วนเพิ่ม โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีทั้ง 3 ฉบับ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย 2 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 1,190 บาทต่อไร่ และส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่
หมวดที่ 2 ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 595 บาทต่อไร่ ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัยโดยเลือกซื้อความคุ้มครองทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในคราวเดียวกันของหมวดที่ 1 จะได้รับ ความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 1,430 บาทต่อไร่ และหมวดที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 715 บาทต่อไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัยและสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้
สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยทั้งหมดโดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. ส่วนเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากรัฐบาล ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 39.60 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 139.60 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 158.60 บาทต่อไร่ สำหรับเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 27 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยกำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย
ข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยภาคเหนือ กลาง อีสาน สิ้นสุดการทำประกันภัยถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ยกเว้น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สิ้นสุดการทำประกันภัยวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และภาคใต้สิ้นสุดการทำประกันภัยวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือ (ซื้อได้ด้วยแอปพลิเคชัน BAAC INSURE)
พร้อมกันนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนยังได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
3) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 3 ฉบับ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย 2 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน
อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่
หมวดที่ 2 ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน
อยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัยโดยเลือกซื้อความคุ้มครองทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในคราวเดียวกันของหมวดที่ 1 จะได้รับ ความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และหมวดที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 870 บาทต่อไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัยและสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้
โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 (Tier 1) อัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. จะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยทั้งหมด โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. อุดหนุนเบี้ยประกันภัย สำหรับเกษตรกรทั่วไป หรือลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่มจะจ่ายตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากรัฐบาล ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐานถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 60 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 260 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลืออีก 460 บาทต่อไร่
สำหรับเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ (เบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่มยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยกำหนดแบ่งจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็น 2 รอบ ตามฤดูเพาะปลูก โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือ (ซื้อได้ด้วยแอปพลิเคชัน BAAC INSURE)เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. มีความพร้อมและสามารถขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามนโยบายของรัฐบาลทันที​ โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการดำเนินการโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง
“สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพเกษตรชาวนาในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง​ ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาและเกษตรกรไทยให้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย