วิจัยกรุงศรีคาดเงินเฟ้อยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น

0
1358

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนชะลอลง แต่มีแนวโน้มทะยานขึ้นในเดือนถัดไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนอยู่ที่ 4.65% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 5.73% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน และราคาสินค้าบางหมวดปรับลดลง อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่ม ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (+29.74%) ราคาก๊าซหุงต้มที่มีการทยอยปรับขึ้นหลังสิ้นสุดการตรึงราคา นอกจากนี้ ยังมีราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ตามต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ 2.0% สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 4.71% และ 1.58% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มจะกลับมาเร่งขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลังจากมีการยกเลิกตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และให้เริ่มทยอยปรับราคาขึ้นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 32 บาทต่อลิตร จนอาจถึงกรอบเพดานใหม่ที่ 35 บาทต่อลิตร จึงอาจกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมถึงยังมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม รวมถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.8% อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง (1-3%) วิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์ว่ากนง.จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปี จากการให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคบริการทยอยปรับดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายนอยู่ที่ 48.2 ลดลงจาก 50.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบด้านต้นทุนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ผันผวนสูงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ผลักดันให้ราคาสินค้าส่วนหนึ่งปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการพยุงกำลังซื้อในประเทศที่สิ้นสุดลงส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการปรับลดลง

ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่แรงขึ้น และมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดในจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันภาวะชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกรุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยมากขึ้นในระยะต่อไป โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาการผลิตในบางภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลงเนื่องจากประสบกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต อาทิ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันกลุ่มอสังหาฯ เผชิญกับภาวะต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคบริการมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากมีการยกเลิกมาตรการ Test_&_Go จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 1.9 หมื่นคน (ช่วงวันที่ 1-5 พฤษภาคม) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งสูงสุดที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นคน นอกจากนี้ ล่าสุดทางการเตรียมขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com