ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ  ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร หนุนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืน

0
1412

ธ.ก.ส. เผยผลงานปีบัญชี 2564 ยังคงเติบโตแม้ต้องฝ่าวิกฤต ตอกย้ำความแข็งแกร่งของภาคเกษตรกรรมไทยที่ยังเป็นแรงหนุนสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยจ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปีกว่า 6.6 แสนล้านบาท วางเป้าปีบัญชี 2565 มุ่งสู่การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน โดยวางมาตรการฟื้นฟูและลดหนี้ครัวเรือนเกษตรกร เสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป การเชื่อมโยงทางการตลาด เติมความคล่องตัวด้วยบริการทางการเงินที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัล พร้อมหนุนการพัฒนาและยกระดับชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานปีบัญชี 2564 (1 เมษายน 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทในระหว่างปี จำนวน 667,971 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,606,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 35,485 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.26 ยอดเงินฝากสะสม 1,901,801 บาท เพิ่มจากต้นปีบัญชีจำนวน 120,329 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.75  มีสินทรัพย์จำนวน 2,236,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.73  หนี้สินรวม 2,086,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และส่วนของเจ้าของ 149,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.17  โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 98,610 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 91,031 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,579 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 0.35 อัตราตอบแทนต่อส่วน ผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ร้อยละ 5.22 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 6.63  โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.43 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเสริมสภาพคล่องลูกค้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่าน  3  โครงการ  ได้แก่ 1) โครงการชำระดีมีคืน ดำเนินการคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าจำนวน 1,337,373 ราย จำนวนเงินกว่า 1,024 ล้านบาท 2) โครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด ดำเนินการลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่มีภาระหนัก จำนวน 184,920 ราย จำนวนเงิน 1,259 ล้านบาท และ 3) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 3,702 สัญญา จำนวนเงิน 1,697 ล้านบาท

ด้านการดำเนินนโยบายที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้สารเคมี โดยหันมาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร สามารถเพิ่มพื้นที่ตามโครงการแล้วกว่า 67,000 ไร่ และ เพิ่มต้นแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในแต่ละภูมิภาค จำนวน 9 แห่ง  การดำเนินโครงการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ใช้น้ำ ให้ยกระดับไปสู่ชุมชนผู้ผลิต โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการบริหารน้ำบาดาลสำหรับการทำเกษตรกรรม โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ แล้ว 843 แห่ง ทั่วประเทศ โครงการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การปลูกข้าวและอ้อยเพื่อลดค่า PM 2.5 สนับสนุนการนำฟางข้าวและใบอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยลดของเสียจากเศษวัสดุการเกษตรให้เป็นศูนย์ (Zero waste) และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ทำนารวม 23,004 ไร่ และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย รวม 363,184 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเพิ่มให้กับเกษตรกรจากการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้สนับสนุนการเพิ่มการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในโครงการธนาคารต้นไม้และการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า  นำร่องโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย ธ.ก.ส. สาขา ทั้ง 9 ภาคและสำนักงานใหญ่ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ Green Credit  วงเงิน 6,000 ล้านบาท  ผ่านแหล่งเงินทุนพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 5.1 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 88,398 ล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว  เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.63 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 53,872 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 309,327 ราย จำนวนเงินกว่า 19,745 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 62 แห่ง จำนวนเงิน 4,499  ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4 ราย จำนวนเงิน 26 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 367 กลุ่ม จำนวนเงิน 2,105 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 4,057 ราย จำนวนเงิน 17,203 ล้านบาท

นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ภาคเกษตรไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศถึงร้อยละ 80 ของ GDP ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย จึงส่งผลกระทบโดยตรงทั้งการส่งออกและรายได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจ​การเกษตร ในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2  โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่มีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  อ้อยปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยความผันผวนด้านราคาน้ำมันที่  เปิดโอกาสให้พืชทดแทนเข้าไปเป็นทางเลือก โดย ธ.ก.ส. จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร หนุนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืน และเน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ในปีบัญชี  2565 (1 เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2566)  ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมเป็นร่มสนับสนุนและดูแลเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและไม่หุบร่ม แม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต  โดยวางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท และ NPLs/Loan อยู่ที่ร้อยละ 4.50 โดยปรับวิสัยทัศน์  “ธ.ก.ส. เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการฟื้นฟูการประกอบอาชีพและการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างครบวงจร ด้วยการส่งเสริมอาชีพ  การปรับเปลี่ยนและ เพิ่มผลิตภาพการผลิต สนับสนุนการแปรรูปและอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบเกษตร  แปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนและสร้างพลังในการจำหน่ายสินค้า การสร้างวินัยทางการเงินและการออมเงิน การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินและการประกอบอาชีพ เช่น เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต การทำประกันภัยทางการเกษตร สนับสนุนเงินทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและตรงกับความต้องการและสร้างเครื่องมือในการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ที่สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพ  มีรายได้และมีสภาพคล่องในการลงทุนประกอบกิจการและการดำเนินชีวิตประจำวัน  

การสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว การปรับโครงสร้างองค์กรและการเติมองค์ความรู้ให้กับพนักงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง จัดทำระบบ Data Governance เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารงานและการขับเคลื่อนธุรกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างบริการที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยแก่ลูกค้า ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัล เช่น ผลิตภัณฑ์บริการ ทางการเงิน แอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile Plus , Digital Product & Service , National Digital ID (NDID) และระบบการจัดการข้อมูลสาขา (Branch Management Information System)

การยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ BCG Model ได้แก่ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การเพิ่มมูลค่าสินค้าจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero Waste) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ (New Gen) ทายาทเกษตรกร และ Smart Farmer เข้าทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การยกระดับและต่อยอด SMEs วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร การเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรทั้ง การเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตร การจับคู่ธุรกิจ การร่วมลงทุน (Venture Capital) กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยสนับสนุนและต่อยอดธุรกิจการเกษตร หรือเป็นหัวขบวนที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและหสร้างเกษตรมูลค่าสูง  การสนับสนุนและยกระดับชุมชนที่มีความพร้อมไปสู่ชุมชนอุดมสุข ที่มีความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการเติมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ 

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นอีกปีหนึ่งที่เกษตรกรมีความยากลำบาก อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภัยธรรมชาติ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรา และก้าวเดินและเติบโตไปพร้อม ๆ กันอย่างมั่นคง ยั่งยืน ดั่งปณิธานของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งมั่นในการสร้าง Better Life , Better Community , Better Pride เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ