วิจัยกรุงศรีเผยวิกฤตยูเครนอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า ขณะที่ทางการออกมาตรการระยะสั้นบรรเทาภาระค่าครองชีพ

0
1383

แม้ภาคส่งออกและท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ปรับดีขึ้น แต่ในระยะถัดไปอาจต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตยูเครน มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 23.48 พันล้านดอลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ 16.2% YoY เทียบกับเดือนมกราคมที่ 21.26 พันล้านดอลลาร์ (+8.0%) ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั่วโลกอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปี เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 152,954 คน จาก 133,903 คน ในเดือนก่อน นำโดยนักท่องเที่ยวรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส

ในช่วงต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยมีสัญญาณเชิงบวกทั้งภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบของการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และมีความเสี่ยงจะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกของไทยอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2564 ตามลำดับ แต่ผลกระทบทางอ้อมค่อนข้างมีนัยสำคัญเนื่องจาก (i) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น (ii) มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำคัญรายใหญ่ และ (iii) ผลเชิงลบต่อรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่เป็นตลาดหลักของการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ล่าสุดวิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานการสู้รบในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกของไทยลดลง 3.0% แต่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น จึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออก (ในรูปดอลลาร์) ในปีนี้เติบโตที่ 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 5.0% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ปรับลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาด 7.5 ล้านคน

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทางการคาด GDP ยังเติบโตได้ที่ 3% ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติ 10 มาตรการลดภาระค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน (ดังตาราง) เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน คาดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งนี้ รัฐบาลระบุวงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินมาตรการข้างต้นรวมทั้งสิ้น 80,247 ล้านบาท แบ่งเป็น i) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) วงเงิน 39,520 ล้านบาท ii) กองทุนประกันสังคม (ปรับลดเงินสมทบ) วงเงิน 35,224 ล้านบาท iii) งบกลางจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3,740 ล้านบาท และ iv) บมจ. ปตท. (PTT) วงเงิน 1,763 ล้านบาท

ทางการดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน (ราว 40 ล้านคน) ภายใต้การประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเบื้องต้นอาจนาน 3 เดือน ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อ เป็น 3 กรณี คือ i) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 100 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 33 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.0% GDP โต 3.5% ii) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 125 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 40 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% GDP โต 3.2% และ iii) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 46 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2% GDP โต 3.0% ด้านวิจัยกรุงศรีล่าสุดปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% จากการสู้รบในยูเครนอาจยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้น (ยกเว้นพลังงาน)

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com