SO โชว์กำไรปี 2564 โต 20% สวนสภาพเศรษฐกิจและโควิด-19 ใจป้ำจ่ายทั้งเงินปันผลและหุ้นปันผล ย้ำปีนี้รายได้โตได้อีก 10% ประกาศลุยทันทีเมื่อเจอพันธมิตรทางธุรกิจหรือโอกาสลงทุนใหม่ หวังเพิ่มผลิตภัณฑ์ตรงใจลูกค้าและขยายฐานใหม่

0
1967

สยามราชธานีโกยกำไรปี 2564 สูงถึง 168 ล้านบาท หรือ โต 20% จากทุกหน่วยธุรกิจ ชี้เพราะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ส่งผลโดนใจลูกค้ารายใหม่เพิ่ม ขณะที่ลูกค้าเก่าพร้อมต่อสัญญาอัตราสูงถึง 90 % ธุรกิจ ส่วนรายได้โตเพียง 2.4 % เผยเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ที่ลูกค้าเน้นลดค่าใช้จ่าย ใจถึงยอมจ่ายทั้งเงินปันผลและหุ้นปันผลให้ผู้ถือหุ้น ลั่นปีนี้มั่นใจรายได้โต 10 % จาก 2 กลยุทธ์หลัก ใช้นวัตกรรม-วิจัย&พัฒนา และพร้อมหาพันธมิตร-ลงทุนธุรกิจใหม่ทันทีเมื่อมีโอกาส เหตุการเงินแข็งแกร่งมาก D/E เพียง 0.62 เท่า
นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทปี 2564 SO มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 20.86 % จากปีก่อนที่ทำได้ 139 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากทุกหน่วยธุรกิจของบริษัท โดยมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ปีนี้อยู่ที่ 8.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 6.8% ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่ระดับ 18.8 % ซึ่งใกล้เคียง/เท่ากับปีก่อนที่ทำได้ 18.3%
ขณะที่รายได้บริษัททำได้ 2,086 ล้านบาท หรือโตเพียงเล็กน้อยที่ 2.4 % จากปีก่อนอยู่ที่ 2,037 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวตามสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานภายในบริษัทลงตามสภาพเศรษฐกิจ
“ปัจจัยที่ทำให้กำไรโตมากถึง 20 % ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากที่บริษัทมีนโยบายใช้กลยุทธ์การลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องของเวลาและเงินทุน (Lean) ที่ทำมาต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปี และที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินงานที่สามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนการทำงานให้กับลูกค้า เช่น ระบบการลงเวลาและคำนวณค่าใช้จ่าย ซึ่งลดความซับซ้อนในเรื่องการคำนวณเงินล่วงเวลา (โอที) ให้กับพนักงานตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายที่จะมีวิธีคิดและระบบการจัดการที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังช่วยทำให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันลูกค้าเก่าก็มีอัตราการต่อสัญญาสูงถึง 90 %”นายณัฐพลกล่าวประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า จากผลประกอบการดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นทั้งในรูปแบบเงินปันผลและหุ้นปันผล โดยอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 0.2 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 74.4 ล้านบาท และจ่ายเป็นหุ้นปันผล 5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล หรือขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 20 เมษายน 2565 และจะมีการจ่ายเงินปันผลและหุ้นปันผลในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดผลประกอบการครึ่งปี 2564 แล้วที่ 0.2 บาทต่อหุ้นอย่างไรก็ดี ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,086 ล้านบาท จาก 2 แรงขับเคลื่อนหลักคือ 1.การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการการจ้างเหมาบริการครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) และเกิดนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น และ 2.การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ กับพันธมิตรของบริษัท รวมถึงพร้อมที่จะลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อมีโอกาส เนื่องจากมองว่าจะช่วยให้เกิดทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ และการบริการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการลูกค้าได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทขยายฐานได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยภายหลังจากที่ SO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ยิ่งทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งอย่างเห็นได้ชัดมากในระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.62 เท่า ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่ 0.76 เท่า ขณะที่มีหนี้สินทั้งหมด 588 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 665 ล้านบาทขณะที่ตัวเลขทางการเงินอื่นๆ ของบริษัทก็เข้มแข็งมาก ตั้งแต่สินทรัพย์บริษัท ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,540 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่ 1,534 ล้านบาท อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 952 ล้านบาท เมื่อเทียบปี 2563 ที่ 869 ล้านบาท และอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 2.37 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.07 เท่า
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งหน่วยงานใหม่ที่รับผิดชอบและดูแลเรื่องโครงการและการลงทุนต่างๆ โดยตรง (Investment and Project) รวมถึงการหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี หรือหาบริษัทร่วมการลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เข้ามาเป็นพันธมิตรต่อเนื่อง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พันธมิตรร่วมมาเป็นคณะกรรมการบริษัทสยามราชธานี เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางของบริษัท ซึ่งส่วนนี้ในฐานะซีอีโอจะเข้ามาดูแลโดยตรง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สยามราชธานีได้ให้บริการลูกค้ามาตลอดกว่า 40 ปี คือ การเปิดรับฟังความต้องการของลูกค้าและปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนสะสมเป็นประสบการณ์การทำงานร่วมกันกับลูกค้า ที่สำคัญทำให้สามารถพัฒนาแนวทางการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ (Solution) เพื่อแก้ข้อจำกัดหรืออุปสรรคให้กับลูกค้าเมื่อเกิดอุปสรรคหรือข้อติดขัดในกระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา รวมถึงยังสามารถประยุกต์การแก้ไขปัญหาในกรณีที่คล้ายกันให้กับลูกค้ารายอื่นได้อีกด้วย