มะเร็งปอด รู้ก่อนอันตราย รักษาได้ทัน

0
1377

จากข้อมูลทางสถิติของ WHO พบว่า โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเทียบเท่ากับมะเร็งเต้านม และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งในโรคมะเร็งทั้งหมด เนื่องมาจากสาเหตุการตรวจพบที่ช้า จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือแพร่ไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ถือเป็นอีกโรคที่มีความอันตรายเป็นอย่างยิ่ง แต่หากได้รับการตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะทำให้มีโอกาสในการรักษาหายขาดได้สูงขึ้น

นายแพทย์ ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอก ด้านผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า การศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งปอด ทำให้รู้ว่าการใช้เสมหะหาเซลล์มะเร็ง (sputum cytology)  และ เอ็กซเรย์ปอด (chest X-Ray) ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ เนื่องจากการเอกซเรย์ปอดนั้นไม่สามารถค้นพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นก้อนทึบ (subsolid nodule/ground glass nodule) ได้ เพราะความละเอียดไม่เพียงพอ ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์ปอดแล้วไม่เจอจุดในปอด (lung nodule) แพทย์ก็ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่าผู้ป่วยไม่เป็นมะเร็งปอด ในทางกลับกันอาจทำให้ผู้รับการตรวจเข้าใจผิดไปว่าตนเองไม่มีโรคร้ายนี้ ก่อให้เกิดผลเสียในภายหลังได้ ซึ่งต่างจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low-dose CT chest) ที่เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกด้วยปริมาณรังสีต่ำให้ภาพ 3 มิติที่ให้รายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด แม้ใช้ปริมาณรังสีไม่สูงมากและไม่ต้องฉีดสารทึบแสงก็สามารถตรวจพบจุดเล็ก ๆ หรือก้อนในปอดได้ ทำให้ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกได้ชัดเจนกว่าการ Chest X-ray ตรวจง่าย ใช้เวลาไม่นาน มีผลข้างเคียงน้อย สามารถลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มากถึง 20% ทำให้ปัจจุบันสมาคมแพทย์ทั่วโลกเช่น NCCN (National Comprehensive Cancer Network)  ASCO (American Society of Clinical Oncology) และ ACCP  (American College of Chest Physicians) แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยวิธีนี้

โดยกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (high risk group) จาก National Lung Screening Trial (NLST) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีอายุ 50 – 80 ปี มีการสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละครึ่งซองมานานกว่า 30 ปี  หรือ 1 ซองมานานกว่า 20 ปี และปัจจุบันยังสูบอยู่ หรือเลิกสูบบุหรี่ไม่ถึง 15 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง นอกเหนือจากการสูบบุหรี่แล้วการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่ามีตัวแปรอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ ประวัติมะเร็งปอดของครอบครัว ประวัติมะเร็งอื่น ๆ ของผู้คัดกรอง รวมถึง ประวัติการเป็นถุงลมโป่งพอง ในประชากรที่มีความเสี่ยงปานกลาง (moderate risk group) คือ กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (20 pack-year) หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีบุคคลอื่นในครอบครัวสูบ (second-hand smoker) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ธูป ฝุ่นละอองควัน เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อแนะนำให้คัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ แต่กำลังมีการศึกษาในประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้ข้อแนะนำอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ทางสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด เช่น ธูป (Incense) ซึ่งควันจากธูปนั้นจะแตกต่างกับบุหรี่ โดยควันธูปจะเป็นผลกระทบโดยอ้อมคล้ายกับผู้ที่ได้รับบุหรี่มือสอง (second-hand smoker) ทำให้การวัดปริมาณการได้รับทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือการเก็บข้อมูลย้อนหลังในมนุษย์พบว่าการได้รับควันธูปเป็นระยะเวลานานมีผลกระทบกับเนื้อเยื่อปอดและอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนเป็นมะเร็งในอนาคตได้ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันจากธูปหนาแน่นหรือใส่หน้ากากที่กรองอนุภาคขนาดเล็กได้

ฝุ่นละอองควัน 2.5 (PM 2.5) ฝุ่นละอองควัน (Particulate Matter หรือ PM) 2.5 คือ สสารที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจาก ควันรถ การเผาไหม้ การก่อสร้าง ฝุ่นข้ามแดน เป็นต้น สารเหล่านี้เมื่อเข้าไปในหลอดลมของสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ตามด้วยการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ส่งผลกระทบต่อคนที่มีโรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งปอดได้ ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเวลาที่มี PM 2.5 มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคารควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองควัน

บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic cigarettes, E-cigarettes) มีส่วนประกอบหลักคือ นิโคติน และผสมด้วยตัวทำละลาย (Propylene Glycol) กลิ่น และ รสต่าง ๆ มีจุดประสงค์คือลดการใช้บุหรี่ที่มีส่วนผสมของสารพิษ คือ สารหนู (Arsenic) ตะกั่ว (lead) และอื่น ๆ การศึกษาพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการอักเสบกับทางเดินหายใจได้ ถึงแม้เมื่อเทียบกับบุหรี่แล้วน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามมีความกังวลสำหรับการที่มีผลเสียน้อยกว่าบุหรี่ของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ประชากรวัยรุ่นตัดสินใจลองใช้ได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต

การตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มแรกนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายแล้วยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะยาวได้ ดังนั้น ผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบไปแล้วภายใน 15 ปีที่ผ่านมาและมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (low dose CT chest) เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อสุขภาพปอดที่ดีห่างไกลมะเร็ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โทร. 02755-1188 Contact Center โทร 1719  หรือ add line : @cancercare