วช. ร่วมสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนานักวิจัยสิ่งแวดล้อม เสริมศักยภาพนักวิจัยในการสร้างผลงานวิจัยคุณภาพ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรม

0
24

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดสัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ภายใต้ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2”

โดยมี ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวรายงานและสรุปผลการดำเนินโครงการฝึกอบรม และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ” ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมศักยภาพเครือข่ายนักวิจัยให้สามารถผลิตงานวิจัยที่ตอบสนองต่อแผนพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนานักวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยความร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการจัดโครงการพัฒนานักวิจัยและเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละหลักสูตร จะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ พัฒนางานวิจัยเชิงบูรณาการสามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบหลักสูตรที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ รวม 8 หลักสูตร ได้แก่

  1. การเขียนโครงการวิจัย และการนำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ประโยชน์
  2. การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
  3. การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste)
  4. การวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ และ PM2.5
  5. การวิจัยมลพิษอุตสาหกรรมและนิเวศอุตสาหกรรม
  6. การวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
  7. การจัดการทรัพยากรน้ำกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. การรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทั้ง 8 หลักสูตร ได้มีการจัดอบรมในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ถึงมกราคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมและผ่านการฝึกอบรมมากกว่า 300 คน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ การสัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจากจาก ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ” พร้อมด้วยเวทีเสวนาจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ “งานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่” และ “การทำวิจัยให้ตรงเป้ากับการนำไปใช้ประโยชน์” ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ทรัพยากรน้ำ (น้ำบาดาล), มลพิษทางอากาศและ PM2.5, การลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการเสวนาหัวข้อ “นักวิจัยพบผู้ตรวจสอบโครงการวิจัย” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประเทศ ให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง วช. คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพนักวิจัยไทยให้สามารถผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป