คปภ. เสริมเขี้ยวเล็บ..! บทบาทเชิงรุกของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยยุคดิจิทัล ชูการไกล่เกลี่ยออนไลน์ • พร้อมถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้เอาประกันภัย

0
1367

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทักษะ และถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โรงแรมเคนชิงตัน อิงลิช การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 91 คน ประกอบด้วย ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. จำนวน 52 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 39 คน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยให้กับผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ในหัวข้อ “Like & Share รู้แล้ว…บอกต่อ” การเสวนาในหัวข้อ “แนวทางในการพิจารณาประเด็นปัญหาข้อพิพาทด้านการประกันภัยสำหรับผู้ไกล่เกลี่ย” โดยอาจารย์โชติช่วง ทัพวงศ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และนายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมทั้ง ได้มีการถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย เพื่อระดมความคิดเห็นจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิบัติงาน และเทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย เพื่อนำไปพัฒนาทักษะ ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรม CSR เพื่อมอบเวชภัณฑ์และของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์อาพาธ ณ สำนักสงฆ์ป่ามะขามเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน ที่มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยโดยผู้ชำนาญการทั้งสิ้น 1,277 เรื่อง โดยไกล่เกลี่ยสำเร็จเป็นจำนวน 1,005 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 78.70 ดังนั้นการถอดบทเรียนเพื่อรับทราบ และวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับลักษณะข้อพิพาท หรือบุคคลที่เข้ามาสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และกฎกติกา ข้อกฎหมาย รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนประเด็นข้อพิพาทที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ เพื่อจะได้ประสานกับสายงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครั้งนี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำแนวปฏิบัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยผ่านระบบออนไลน์ (Online) เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการลดการแออัดและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ของพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาใช้บริการด้วย อีกทั้งสามารถนำไปขยายสู่ระบบการไกล่เกลี่ยทางเลือกสำหรับประชาชนที่อยู่ห่างไกลให้เข้าถึงระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ได้

ทั้งนี้ คู่กรณีที่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ สามารถแจ้งความประสงค์ตามแบบที่สำนักงาน คปภ. กำหนด (Google form) โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะประสานงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวันเวลานัดหมาย และช่องทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ซึ่งมี 2 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน LINE และโปรแกรม Microsoft Teams หากคู่กรณีสามารถยุติข้อพิพาทได้ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ไกล่เกลี่ยจะทำบันทึกความตกลงประนีประนอมยอมความและแสดงให้คู่กรณีได้อ่านและตรวจสอบความถูกต้องและเห็นชอบตรงกัน ก่อนลงนามในบันทึกความตกลงประนีประนอมยอมความ โดยวิธีทางโทรสารหรือไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. 2552 ต่อไป ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะจัดเก็บข้อมูลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ไว้ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสืบค้นได้