Save the Children Thailand – กลุ่มลูกเหรียง – มูลนิธินูซันตารา จัดงาน “ECHOing Child Safety เด็กชายแดนใต้ปลอดภัยเมื่อภัยมา” ที่จ.ยะลา เน้นย้ำความสำคัญของความปลอดภัยเด็กชายแดนใต้ยามมีภัยพิบัติ

0
300

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) ร่วมกับสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) และมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โดยการสนับสนุนของสำนักงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป ได้จัดงาน “ECHOing Child Safety เด็กชายแดนใต้ปลอดภัยเมื่อภัยมา” ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา เพื่อส่งเสริมและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น อุทกภัย ดินถล่ม และเหตุความขัดแย้ง โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเด็กจากโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐและตัวแทนภาคประชาสังคมกว่า 440 คน


คุณรติรส ศุภาพร ตัวแทนคณะผู้บริหารจาก Save the Children Thailand ได้กล่าวถึงงานนี้ว่า “เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือที่เกิดจากมนุษย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ การที่เราได้จัดงานนี้ขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วน จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานในครอบครัวและชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมเองก็ได้มาเรียนรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่นหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นอย่างยิ่ง”


ภายในงาน ได้มีการรายงานสถานการณ์ปัญหาภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ในพื้นที่จังหวัด 3 ชายแดนใต้ การนำเสนอผลงานจากกิจกรรมซ้อมแผนรับมือภัยในพื้นที่โรงเรียนและชุมชน และการพูดคุยในประเด็น “ประโยชน์จากแผนรับมือภัยพิบัติที่ช่วยในการปกป้องคุ้มครองและลดผลกระทบต่อเด็ก” โดยมีตัวแทนเด็ก เยาวชน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยน องค์กรต่าง ๆ จากหลายภาคส่วนที่เข้าร่วมในงานยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อต่อยอดการทำงานเพื่อคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ฉุกเฉิน เด็กที่เข้าร่วมเองก็ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามซุ้ม ที่นอกจากจะได้รับความสนุกแล้วยังได้เสริมทักษะในการช่วยเหลือตัวเองเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหลายรูปแบบ
“การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่เป็นเพียงการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่มันยังรวมถึงการสร้างสังคมที่ปลอดภัยทั้งในยามปกติและยามมีภัยสำหรับคนในรุ่นต่อไป การนำประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กเข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติจะทำให้เราไม่ทอดทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังเมื่อมีภัย ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของพวกเราทุกฝ่าย เราจะทำให้เด็กทุก ๆ คนในบ้าน โรงเรียน ชุมชน และสังคมของเราปลอดภัยไปด้วยกัน” คุณกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว
คุณยุทธนา สำราญกิจ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “ความปลอดภัยของเด็กถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากและสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน หนึ่งในกิจกรรมของโครงการ ECHO HIP II คือการซ้อมแผนรับมือเมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้นในโรงเรียน ให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้เรียนรู้ไปด้วยกันถึงการรับมือที่มีประสิทธิภาพ เราจะดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน เพราะเมื่อโรงเรียนปลอดภัย เด็กก็จะสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ”
คุณศุภวิชญ์ รักศิลป์ ตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดยะลา กล่าวว่า “การดูแลให้ประชาชนปลอดภัยเมื่อภัยมาถือเป็นภารกิจที่สำคัญของเรา แน่นอนว่าเรามีแผนรับมือภัยพิบัติอยู่แล้ว แต่เราจะต้องเพิ่มเรื่องการปกป้องคุ้มครองและดูแลเด็กเข้าไปในแผนเหล่านั้น เพื่อให้เด็กทุกคนปลอดภัยและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อย่างรวดเร็วหลังจากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงลดผลกระทบจากภัยที่มีต่อเด็กและครอบครัวด้วย”
งาน ECHOing Child Safety เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาแผนรับมือและการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ระยะที่ 2 (ECHO HIP II) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินในโรงเรียนและชุมชนที่สะท้อนถึงบริบทของอันตรายจากภัยที่หลากหลายของจังหวัดยะลา โดยมุ่งเน้นแผนที่ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ผ่านแนวทางการมีส่วนร่วมของเด็ก ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมกับผู้นำศาสนา หน่วยงานของรัฐ และชุมชนเพื่อจัดการกับความเตรียมพร้อมรับมือ จัดสรรบริการ และฟื้นฟูเยียวยาเด็กและครอบครัวจากผลกระทบ ทั้งนี้ โครงการยังมุ่งหวังที่จะนำเสนอบทเรียน ข้อค้นพบ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปต่อยอดหรือสนับสนุนให้เกิดแนวทางการปฏิบัติในระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับภูมิภาคต่อไป


เกี่ยวกับโครงการ ECHO HIP II
ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป โครงการพัฒนาแผนรับมือและการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ระยะที่ 2 (โครงการ ECHO HIP II) โดย Save the Children Thailand ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคี สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในการที่จะพัฒนาแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กในพื้นที่จังหวัดยะลาซึ่งมีอัตราการเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง โครงการได้ผสานความร่วมมือจากทุกระดับในหลายภาคส่วน อาทิเช่น ผู้นำศาสนา ภาครัฐ และชุมชน เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก รวมไปถึงการผลักดันเชิงนโยบายกับกลไกคุ้มครองเด็กระดับชาติและระดับภูมิภาค โดยโครงการมีระยะเวลาการทำงาน 24 เดือน ระหว่าง 1 กรกฎาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2567

เกี่ยวกับ Save the Children Thailand
Save the Children เริ่มทำงานในประเทศไทยในปี พ.ศ.2522 โดยให้ความช่วยเหลือในด้านการคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ รวมถึงในด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ และให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงหรือภัยพิบัติ​
ปัจจุบัน โครงการของเราครอบคลุมการทำงานในหลายด้าน เช่น ให้การศึกษาแก่เด็กข้ามชาติและอพยพลี้ภัย การสร้างความสมานฉันท์ให้กับเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรท้องถิ่นที่นำโดยผู้หญิงที่ทำงานด้านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภัยบนอินเตอร์เน็ตให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และอื่น ๆ