49 ปี การเคหะแห่งชาติ ยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัย สร้างความสุขให้ประชาชนยั่งยืน

0
2002

ครบรอบ 49 ปี กคช. พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว 746,439 หน่วย พร้อมขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญตอบสนองนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เน้นการสร้างบ้านเช่าแทนการขาย อาทิ “บ้านเคหะสุขประชา” บ้านพร้อมอาชีพ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง และ “บ้านเคหะสุขเกษม” สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการเกษียณ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับ กฟผ. พัฒนาโครงการ “บ้านเบอร์ 5” สามารถคว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทดีเด่น

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516 ปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 49 ปี ด้วยความภาคภูมิใจในภารกิจด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ รวมทั้งดำเนินงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ส่งผลให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ประจำปี 2564 การเคหะแห่งชาติ ได้คะแนน ITA 97.93 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มสูงขึ้น 11.97 คะแนน จากปี 2563 ซึ่งได้ 85.96 คะแนน ถือเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอันดับ 8 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด และยังได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2519 จนถึงเดือนธันวาคม 2564 การเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ้น 746,439 หน่วย สำหรับโครงการที่การเคหะแห่งชาติเร่งดำเนินการตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นโครงการไฮไลท์ในปี 2564 ดำเนินการต่อเนื่องในปี 2565 ได้แก่ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” ซึ่งได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีเป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) กำหนดส่งมอบปีละประมาณ 20,000 หน่วย ด้วยแนวคิดการจัดสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเช่าให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะ อัตราค่าเช่าประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งส่งเสริม “เศรษฐกิจสุขประชา” 6 กลุ่มอาชีพ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัยตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ จำนวน 572 หน่วย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้ง บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยการเคหะแห่งชาติจะถือหุ้น 49% ที่เหลือเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน โดยเป็นธุรกิจอื่น อีก 7 กลุ่มถือหุ้นในสัดส่วนรวมกัน 51% อาทิ ธุรกิจค้าปลีก เกษตร เฮลท์แคร์ ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละรายจะถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 15% ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดตั้งบริษัทตามขั้นตอนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

“โครงการบ้านเคหะสุขเกษม” เป็นโครงการที่อยู่อาศัยประเภทเช่าในระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ และข้าราชการเกษียณ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ พนักงานบริษัท และประชาชนทั่วไป ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี หรืออายุ 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการต้นแบบ “บ้านเคหะสุขเกษม” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องบริเวณซอยที่ดินไทย ถ.เทพารักษ์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบโครงการฯ ภายใต้หลักสถาปัตยกรรมเพื่อทุกคน (Universal Design) มีลักษณะเป็นอาคารชุดสูง 5 ชั้น (มีลิฟต์ทุกอาคาร) ห้องพักอาศัยมีขนาดประมาณ 33 และ 56 ตารางเมตร และภายในโครงการยังแบ่งพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยมีอัตราค่าเช่าตั้งแต่ 3,200 – 5,000 บาทต่อเดือน ผู้ที่สนใจสามารถจองผ่านเว็บไซต์ได้ที่ https://rent.nha.co.th/sukkasem ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ถือเป็นการนำร่องในการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองของการเคหะแห่งชาติ คือ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคารแปลง A และ แปลง D (อาคาร A1 และอาคาร D1) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ การเคหะแห่งชาติได้เร่งดำเนินการด้วยการนำเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาทดแทนแรงงาน คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จทั้งสองโครงการฯ ภายในปี 2566 นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาชุมชนดินแดง พ.ศ. 2563-2567 เช่น การจัดทำแปลงผักชั้นดาดฟ้าอาคารแปลง G และธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง ซึ่งผู้อยู่อาศัยในชุมชนร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาและสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย

โครงการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างความสุขให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการอาคารเช่าของการเคหะแห่งชาติ ด้วยการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชนและนำกลับมาบริหารเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัย พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายดำเนินการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน จำนวน 60 สัญญา รวมทั้งสิ้น 32,632 หน่วย ปัจจุบันได้ดำเนินการรับคืนอาคารจากบริษัทเอกชนแล้ว จำนวน 51 สัญญา และได้ผลตอบรับจากผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างดี

และอีกหนึ่งโครงการที่สานฝันความสุขให้กับคนที่อยากมีบ้าน คือ “โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ประชาชนที่ซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อผ่านโครงการดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการบริหารสินเชื่อที่อยู่อาศัย (คบส.) เป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้า สำหรับปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 635 ราย วงเงิน 416.27 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 ในเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2564 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 328 ราย คิดเป็นวงเงิน 205.79 ล้านบาท และในเดือนมกราคม 2565 อยู่ระหว่างการนำเสนอพิจารณาอนุมัติจำนวน 150 ราย คิดเป็นวงเงิน 95.95 ล้านบาท

อีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปี 2564 คือ โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่ อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being: SSC) เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาและส่งเสริมโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ระยะที่ 2 หรือ “บ้านประหยัดพลังงาน เบอร์ 5” และได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ “SSC” ในมิติที่แตกต่างกัน จนสามารถเดินหน้าโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) มาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และจะขยายผลการดำเนินงานในปี 2565 จำนวน 4 โครงการ ซึ่งจากความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาและส่งเสริมโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือ “บ้านประหยัดพลังงาน เบอร์ 5” ทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทดีเด่นอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 การเคหะแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทั้งภายในและภายนอกองค์กร นับตั้งแต่ที่มีการระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการเคหะแห่งชาติดำเนินการแล้ว ได้แก่ การออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ การเปิดให้บริการศูนย์พักพิง – พักคอยรองรับผู้กักตัวและผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 การมอบถุงกำลังใจ สู้โควิด – 19 ในพื้นที่ 4 เขตของกรุงเทพมหานคร การจัดรถ Mobile พาณิชย์เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาย่อมเยา การตรวจเชิงรุกโควิด – 19 คัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชน การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในชุมชน การมอบถุงยังชีพและแจกอาหารปรุงสุก และการมอบชุดเวชภัณฑ์ให้กับผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม

ตลอดระยะเวลา 49 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 นี้ การเคหะแห่งชาติจะเร่งพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกโครงการฯ ที่กำลังดำเนินการ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้และกลุ่มเป้าหมายได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ในระดับราคาที่รับภาระได้ พร้อมมีอาชีพที่ส่งเสริมเศรษฐกิจครอบครัวและชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป