กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์กิจกรรมเนื่องวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย 4 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด “ความท้าทายงานอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับโลกที่ผันผวน : Environmental Health, A Vital Challenges in Response to VUCA World” ชวนคนไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพดี
วันนี้ (30 มิถุนายน 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีถวายพระพรศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2566 ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศจะมีการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวของทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของเจ้าฟ้านักพัฒนาที่ทรงให้ความสำคัญและพัฒนาความรู้ทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
อย่างต่อเนื่อง
โดยปีนี้มุ่งเน้นความสำคัญจากสถานการณ์ที่ผันผวนของโลก ปัญหามลพิษ สารเคมี และสาธารณภัยต่าง ๆ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความท้าทายของงานอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งปรับตัว ทั้งการเตรียมแผน (Prevention) เตรียมความพร้อม (Preparation) การรับมือหรือตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Response) และการฟื้นฟู (Recovery) ให้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน นำไปสู่การจัดการ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในปี 2566 จึงจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “ความท้าทายงานอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับโลกที่ผันผวน : Environmental Health, A Vital Challenges in Response to VUCA World”
และเชิญชวนทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของทุกคน สู่อนามัยสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายใต้กิจกรรม “ตั้งสติ ตั้งรับ และปรับตัว” เช่น 1) กิจกรรมกระบอกเสียงเตือน บ้านเรือนปลอดภัย การสร้างแกนนำเตือนภัยพิบัติและเครือข่ายเพื่อนบ้าน ช่วยเป็นหูเป็นตา เรื่องภัยพิบัติ การก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งข่าวเครือข่ายและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแกนนำชุมชมผ่านมือถือ เพื่อการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว 2) กิจกรรมสำรองน้ำ สำรองชีวิต ส่งเสริมให้ทุกบ้าน มีตุ่มหรือภาชนะเก็บสำรองน้ำใช้อย่างน้อยบ้านละ 1-2 ใบ พร้อมให้ความรู้การทำความสะอาดภาชนะเก็บกักน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้น การใช้คลอรีนน้ำ (หยดทิพย์) ฆ่าเชื้อโรค สำหรับใช้ในช่วงประสบภัย โดยเฉพาะภัยแล้ง ภัยร้อนที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 3) กิจกรรมหยุดเผา เราไม่ตาย ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ทุกครัวเรือนหยุดการเผาขยะการเผาในที่โล่งทุกรูปแบบ เพื่อลดมลพิษ ลดควัน ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และลดภาวะโลกร้อนที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติ รวมทั้งการทำห้องปลอดฝุ่นประจำบ้านเพื่อเป็นที่หลบภัยจากภัยหมอกควัน 4) กิจกรรมพฤติกรรมดี สุขอนามัยดี รณรงค์ให้หน่วยงาน พื้นที่ ชุมชน หรือสถานที่สาธารณะ ปฏิบัติตามมาตรการการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโรค เช่น ส่งเสริมสุขวิทยาส่วนบุคคลให้เป็นเรื่องปกติประจำวัน กินร้อน มีช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือด้วยน้ำและสบู่อยู่เสมอ สวมหน้ากากเมื่อป่วย หรืออยู่ในพื้นที่กลุ่มคนหนาแน่น
-2- / รณรงค์การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ…“รณรงค์การประเมินความเสี่ยงสุขภาพด้วยตนเอง เช่น รู้จักใช้แอพแจ้งเตือนภัยพิบัติ งดออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่ออุณหภูมิสูง และฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน งดการเดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงน้ำท่วม เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ดี ให้ประชาชนห่างไกลโรค 5) กิจกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนบอกเล่าเรื่องราวการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานพื้นที่ ชุมชน หรือสถานที่สาธารณะ และ
6) การจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจัดนิทรรศการให้ความรู้ คำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือจัดหาสื่อประชาสัมพันธ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
เพื่อป้องกันและการลดความเสี่ยงโรคให้กับประชาชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่สาธารณะ ให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลจัดการสุขภาพของตนเองได้ ทั้งนี้ หน่วยงานสามารถร่วมรณรงค์ด้วยการแชร์ภาพ คลิปวิดีโอกิจกรรม พร้อมข้อความสั้นๆ ผ่านสื่อโซเชียลหรือสื่อต่างๆ ของหน่วยงานตนเอง
พร้อมใส่เครื่องหมาย #วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยปี2566 #ThaiEnvironmentalHealthDay2023
#กรมอนามัย ใต้ข้อความที่โพสต์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ และส่งมาที่ E-mail : env.thaiday@gmail.com
ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะได้ส่งใบประกาศเกียรติบัตรเพื่อขอบคุณที่ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ปลอดภัย และเอื้อต่อการ
มีสุขภาพดีต่อไป
ทั้งนี้ กรมอนามัยขอแสดงความยินดีกับบุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ปี 2566 ได้แก่ นางอัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร และเทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัล Princess Environmental Health Award ประจำปีพุทธศักราช 2566 จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่อุทิศตนด้วยความเสียสละในการพัฒนาขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งให้แก่วงการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อประชาชนในระดับประเทศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด