เลขาธิการ คปภ. นำเสนอบทบาทสำนักงาน คปภ. กับการประกันภัยเกษตรกรรมต่อวุฒิสภา

0
269

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา เกี่ยวกับ “บทบาทของสำนักงาน คปภ. กับการประกันภัยเกษตรกรรม” โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา และนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัย ร่วมชี้แจงด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับบทบาทสำนักงาน คปภ. กับการประกันภัยเกษตรกรรม โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีหน้าที่กำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความแข็งแกร่ง มั่นคง เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย รวมถึงสนับสนุนธุรกิจประกันภัยให้มีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เช่น ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน


โดยกรมธรรม์และเบี้ยประกันภัยต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยมีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย รับเรื่องร้องเรียนผ่านทางสายด่วน คปภ. 1186 กำกับดูแลตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยเพื่อความโปร่งใสและให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลเกษตรของภาครัฐ อาทิ โครงการประกันภัยข้าวนาปี โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสำนักงาน คปภ. บูรณาการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและจัดอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการประกันพืชผลเกษตรของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรทำประกันภัย ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปีและประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. ธกส. กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกร

มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติผ่านระบบประกันภัยเพื่อต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐไปสู่เกษตรกร ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น การประกันภัยจึงเป็นการ Top Up ซึ่งเป็นการช่วยเหลือของภาครัฐ โดยภาครัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้บางส่วน ทั้งนี้ โครงการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ความคุ้มครองต้นทุนและภัยที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติอันได้แก่ น้ำท่วม ฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือ ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และคุ้มครองภัยศัตรูพืช โรคระบาด และภัยช้างป่า ซึ่งภัยดังกล่าวต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ประกาศเป็นเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทุกกรณี กรณีฉุกเฉิน ในระยะเวลาที่เอาประกันภัย

สำหรับ Pain Point หลัก ๆ ของการประกันภัยด้านเกษตรกรรม คือ ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการขับเคลื่อนเรื่องการประกันภัยเกษตรกรรม ขาดกลไกในการดำเนินนโยบายและแผนการประกันภัยเกษตรกรรม รวมถึงงบประมาณที่สนับสนุนมีจำกัดและงบประมาณสนับสนุนเบี้ยประกันภัยแบบปีต่อปี เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการทำประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเกษตรกรรมมีจำกัดเฉพาะในบางพืชผลและในสัตว์บางชนิด การเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับพื้นที่ที่ยังไม่สมบูรณ์ การประเมินความเสียหายจะใช้การประเมินโดยคนเป็นหลัก นอกจากนี้ การประกันภัยพืชผลของภาครัฐมีการรับประกันภัยทั่วประเทศ มีความเสี่ยงภัยสูง เกินขีดความสามารถของบริษัทประกันภัยที่จะรับความเสี่ยงภัยพิบัติไว้เองในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการประกันภัยต่อในต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทประกันภัยต่อจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเบี้ยประกันภัยดังกล่าว

เลขาธิการ คปภ. ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายการประกันภัยการเกษตรและเป็นโครงการที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการประกันภัยข้าวนาปี และ โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้นำเสนอแนวทางเพื่อเป็นการยกระดับการประกันภัยด้านเกษตรกรรมใน 4 แนวทางหลัก ๆ คือ 1. กำหนดเป็นนโยบายระดับประเทศและทิศทางเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจนอันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นประชาชน 2. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมกัน มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการลดระยะเวลาในการสำรวจภัยและจ่ายค่าสินไหมทดแทน และ 4. ภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการผลักดันการประกันภัยเกษตรทั้งในส่วนของการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการประกันภัย ทั้งนี้ ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกวุฒิสภาหลายท่าน ซึ่งสำนักงาน คปภ. น้อมรับข้อแนะนำและพร้อมที่จะนำไปพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป