การเคหะแห่งชาติโชว์ผลงานปี 2567 เดินหน้าตามนโยบาย พม. 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร สร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย Housing for all ครอบคลุมทุกมิติ เน้นบ้านตั้งต้น First Jobber ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เร่งฟื้นฟูและพัฒนาเมือง สร้างโอกาสให้ประชาชนมีบ้านด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยฯ และยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมให้รางวัลชุมชนส่งเสริมการมีส่วนร่วม
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2567 การเคหะแห่งชาติได้ขับเคลื่อนงานตามแนวนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีมุมมองต่อการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และมุ่งเน้นนโยบายสำคัญ ที่เรียกว่า 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ได้แก่ เสริมพลังวัยทำงาน เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน สร้างพลังผู้สูงอายุ เพิ่มโอกาสและเสริมคุณค่าคนพิการ และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว (เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคหะแห่งชาติ) อันสืบเนื่องจากวิกฤตประชากร ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเกิดน้อยลง จึงต้องตอบโจทย์เพื่อให้คนต้องการแต่งงานและมีบุตร ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศ (Eco-System) ที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว โดยมีเป้าหมายทำให้ “คนไทยตั้งตัวได้” และ “ครอบครัวมีความมั่นคง” การเคหะแห่งชาติจึงเดินหน้าภารกิจ บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all)
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนยั่งยืน รองรับทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกช่วงวัยนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนยั่งยืนที่การเคหะแห่งชาติดำเนินการปัจจุบัน ประกอบด้วย โครงการบ้านตั้งต้น (First Jobber) เป็นการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber ได้มีบ้านเป็นของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจสร้างแรงผลักดันในการดำเนินชีวิต อันจะนำไปสู่การสร้างครอบครัวที่อบอุ่นในภายภาคหน้า การเคหะแห่งชาติจึงได้นำโครงการอาคารเช่ามาให้เช่าในราคาพิเศษ สำหรับกลุ่ม First Jobber ที่ยังไม่พร้อมจะซื้อบ้าน โดยได้คัดเลือกโครงการที่ตั้งในทำเลที่มีศักยภาพในหลากหลายพื้นที่ เพื่อนำมาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 ทำเล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนรวม 1,428 หน่วย อัตราค่าเช่าอยู่ระหว่าง 1,200-1,500 บาท ปัจจุบันมีประชาชนมาทำสัญญาเช่าโครงการบ้านตั้งต้น First Jobber ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 รวมทั้งสิ้น 387 หน่วย
นอกจากโครงการอาคารเช่าสำหรับกลุ่ม First Jobber แล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีโครงการอาคารเช่าทั่วประเทศที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกจำนวน 8 โครงการ 3,269 หน่วย ได้แก่ สมุทรปราการ (บางพลี), ลพบุรี ระยะที่ 1, อุดรธานี (สามพร้าว), พระนครศรีอยุธยา (โรจนะ), ระยะที่ 1 เชียงใหม่ (หนองหอย), ฉะเชิงเทรา (บางปะกง), หนองบัวลำภู และเพชรบุรี (โพไร่หวาน)
ด้านความคืบหน้าของ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ประกอบด้วย ได้แก่ อาคารพักอาศัยแปลง A อาคาร A1 สูง 32 ชั้น จำนวน 635 หน่วย อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างก่อนส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่อาคารพักอาศัยแปลง D1 อาคาร D1 จัดสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 35 ชั้น จำนวน 612 หน่วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างผู้อยู่อาศัยเดิมจากอาคารแฟลตที่ 23-32 ย้ายขึ้นอาคาร โดยอยู่ระหว่างทำสัญญาเช่าและขนย้ายเข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึง 11 สิงหาคม 2567
ขณะที่ โครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ของการเคหะแห่งชาติ (บ้านสบายเพื่อยายตา) ซึ่งเป็นโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ขององค์กร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยการปรับปรุงซ่อมแซมหรือจัดทำที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งหลัง และปรับสภาพแวดล้อมภายในที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย ซึ่งในปี 2567 การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมายปรับปรุงที่อยู่อาศัย จำนวน 80 หลัง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ชัยภูมิ สตูล และได้เพิ่มพื้นที่กลุ่มเป้าหมายในจังหวัดสุพรรณบุรีอีก 1 จังหวัด เนื่องจากมีกลุ่มประชากรที่เป็นผู้สูงอายุและมีรายได้ไม่เพียงพอจำนวนมาก และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การเคหะแห่งชาติจึงนำบ้านที่ได้รับการการปรับปรุงซ่อมแซมหรือจัดทำที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งหลังในจังหวัดสุพรรณบุรีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ด้าน โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนกว่า 2.27 ล้านครัวเรือน เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มาตรฐาน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุกมิติ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2563-2567 การเคหะแห่งชาติได้ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1,991.020 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2567) สามารถช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในระดับราคาที่รับภาระได้ จำนวน 2,592 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น กลุ่มลูกค้าทั่วไป 2,264 ราย และกลุ่มเปราะบาง 328 ราย (ในปี 2567 การเคหะแห่งชาติได้พิจารณาอนุมัติการเช่าซื้อโครงการสินเชื่อฯ วงเงินรวมทั้งสิ้น 228.084 ล้านบาท ให้กับลูกค้าจำนวน 358 ราย)
การเคหะแห่งชาติยังได้ดำเนิน โครงการยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Smart Sustainable Community : SSC) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้อย่างเป็นระบบ และยกระดับชุมชนให้เป็น Smart Sustainable Community โดยได้ดำเนินโครงการ SSC มาตั้งแต่ปี 2564 เป็นโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (ระยะ 1) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม สนับสนุนการดำเนินโครงการ SSC โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (ระยะ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม และในปี 2565 การเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกชุมชนที่ผ่านการประเมินระดับที่ 3 ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนมาประเมินเป็นชุมชนต้นแบบ จำนวน 4 ชุมชน (ใหม่) และยังคงรักษาชุมชน (เดิม) 1 ชุมชน ต่อมาในปี 2566 ได้คัดเลือกชุมชนที่ผ่านการประเมินระดับที่ 3 จำนวน 8 ชุมชน (ใหม่) และยังคงรักษาชุมชน (เดิม) 5 ชุมชน
ในปี 2567 การเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกชุมชนที่ผ่านการประเมินระดับที่ 3 ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีโครงการเคหะชุมชนและโครงการบ้านเอื้ออาทร เพื่อนำมาประเมินเป็นชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SSC จำนวน 8 ชุมชน (ใหม่) รวมทั้งรักษาชุมชน (เดิม) 13 ชุมชน
นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังได้จัดโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม เพื่อรณรงค์ให้ชาวชุมชนร่วมกันพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมชุมชน สร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง สร้างชุมชนให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี 2567 เป็นการจัดงานครั้งที่ 13 ด้วยแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ ครอบครัวเข้มแข็ง” เพื่อเฟ้นหาชุมชนที่มีการเชื่อมโยงกับผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุกมิติ โดยคัดเลือกชุมชนที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติจำนวนกว่า 700 ชุมชน ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนที่เข้าร่วมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อาคารแนวราบ อาคารแนวสูง และอาคารเช่า โดยชุมชนที่เข้าประกวดต้องมีความพร้อมตามเกณฑ์การให้คะแนนการประเมินชุมชน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านกระบวนการมีส่วนร่วม ด้านการบริหารจัดการชุมชน และด้านการส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมทั้งมอบเงินรางวัลให้กับชุมชนที่ชนะการประกวดรวมมูลค่าทั้งสิ้น 300,000 บาท
“การเคหะแห่งชาติเดินหน้าทุกโครงการตามแนวนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เรามุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยให้แก่พี่น้องประชาชน โดยดำเนินการก่อสร้างฯ ที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเปิดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนรวมถึงผู้อยู่อาศัยในทุกโครงการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ