ทีเส็บ ชูแนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2568 เร่งพัฒนาแบรนด์ประเทศไทย ใช้นวัตกรรมทำงาน เพิ่มการสร้างเครือข่าย เน้นความยั่งยืน มุ่งดึงงานขนาดใหญ่ พร้อมสร้างระบบนิเวศน์ไมซ์ไทย ไปสู่เป้าหมายนักเดินทางไมซ์ 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ถือได้ว่าเป็นขาขึ้นของการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ซึ่งผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 2567 พบว่ามีนักเดินทางไมซ์นานาชาติเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนที่สูงขึ้นร้อยละ 41.89 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบิน แนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และการดำเนินมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไมซ์ และมีนโยบายสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่าให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ โดยเฉพาะวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนแบบถาวร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 รวมทั้งมาตรการ Visa on Arrival ที่ให้สิทธิกับนักท่องเที่ยวหลายประเทศมากขึ้น อาทิ อินเดีย และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) รวมทั้งมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาล และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านงานเทศกาลและงานประจำปีในแต่ละจังหวัด นับเป็นโอกาสของ ทีเส็บ ที่จะแสดงบทบาทในการผลักดันให้ใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ”
สำหรับผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) พบว่า มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งสิ้น 25,350,288 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.47 จากป 2566 โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศ 24,189,719 คน และนักเดินทางไมซ์นานาชาติ 1,160,569 คน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศรวมมูลค่า 148,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.27 ของรายไดในป 2566 โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 78,747 ล้านบาท และรายได้จากนักเดินทางไมซ์นานาชาติ 69,594 ล้านบาท
สำหรับปี 2568 นี้ ทีเส็บยังเดินหน้าทำการตลาดไมซ์เชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ได้แก่ การพัฒนาตำแหน่งของแบรนด์ประเทศไทย ในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-Added MICE Destination) โดยสอดแทรก Soft Power ในการยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ มุ่งใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ เพิ่มการสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางของการจัดงานอย่างยั่งยืน และมุ่งดึงงานขนาดใหญ่ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดผลได้จริง รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) อุตสาหกรรมไมซ์ที่ช่วยผลักดันทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแบบไร้รอยต่อ
ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า ปี 2568 ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติขนาดใหญ่ อาทิ ViV Asia 2025 ในวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2568 เป็นงานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสัมมนาสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำครบวงจร สำหรับภูมิภาคเอเชีย (ผู้ร่วมงานประมาณ 45,000 คน), International Diabetes Federation (IDF) World Diabetes Congress 2025 ในวันที่ 7 – 10 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้จัดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน (10,000 คน), Asia Pacific Life Insurance Congress (APLIC 2025) ในวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม 2568 การสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ของตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (10,000 คน), THAIFEX-Anuga Asia 2025 ในวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2568
งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของเอเชีย (85,000 คน), Thailand Coffee Fest 2025 ในเดือนกรกฎาคม 2568 งานเทศกาลที่สนับสนุนวงการกาแฟไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ (100,000 คน), Bangkok International Digital Content Festival 2025 ในเดือนสิงหาคม 2568 งานเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (10,000 คน), IEEE PES GTD Grand International Conference and Exposition Asia Bangkok 2025 ในวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2568 เป็นงานประชุมวิชาการเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าและพลังงานชั้นนำจากทั่วโลก (10,000 คน)
การได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพงานระดับโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเจ้าภาพ และสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยอีกด้วย โดยกำหนดเป้าหมายว่า สิ้นปีงบประมาณ 2568 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านคน รายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 32.6 ล้านคน รายได้ 1.08 แสนล้านบาท