“WWF ประเทศไทย” เสริมสร้างแคมเปญ “TRAVEL IVORY FREE” เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างพร้อมจับมือพันธมิตรภาครัฐฯ และเอกชนสนับสนุนประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง

0
578

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) สร้างสรรค์แคมเปญ TRAVEL IVORY FREE เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2567 พร้อมจับมือผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการท่องเที่ยว กรมศุลกากร โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการสวนดุสิต สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม สมาคมมัคคุเทศก์แห่งประเทศไทย สมาคมโรมแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โรงแรมอาวานี โรงแรมอนันตรา และ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมผนึกกำลัง สนับสนุนแคมเปญ TRAVEL IVORY FREE เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2567

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า แคมเปญ TRAVEL IVORY FREE เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง นั้นได้เกิดขึ้น หลังจากประเทศจีนได้ประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศ ซึ่งเป็นตลาดงาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเที่ยวและซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างมากที่สุด จากผลการสำรวจพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยังคงมีความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปริมาณความต้องการซื้อขายงาช้าง ทางองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย จึงสร้างสรรค์แคมเปญนี้ขึ้นเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวว่าการซื้อขายงาช้าง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงาช้างมีความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งในงานนี้ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เสมือนเป็นแรงผลักดันให้แคมเปญนี้สำเร็จด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กร WWF มุ่งขับเคลื่อนองค์การในมิติใหม่ ให้เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของ WWF

“ในปีนี้ WWF ประเทศไทยยังคงทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความต้องการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และโครงการในปีนี้ WWF ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กรมการท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมายร่วมสนับสนุนประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง

โดย GlobeScan ระบุว่า ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวเดินทางมา และซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างเป็นของฝากของที่ระลึก โดยผลสำรวจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนไม่คิดซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ขณะที่บางส่วนรับทราบว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย และยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนบางส่วนเข้าใจว่าสามารถนำงาช้างออกนอกประเทศไทยได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้”

WWF ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างในประเทศไทยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และในปี 2567 นี้มีการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องรับทราบและระมัดระวัง” อนึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเพิ่มบทลงโทษ กล่าวคือ ผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

ในส่วนของเหล่าพันธมิตรทั้ง 13 หน่วยงาน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการท่องเที่ยว ฯลฯ เปิดเผยว่าสำหรับแคมเปญ “เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง” ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืนโดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมสร้างจิตสำนึกให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล อนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยมีการนำชิ้นงานประชาสัมพันธ์จาก WWF ประเทศไทย มาใช้เผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น อีกทั้งแคมเปญนี้ถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้ามาขับเคลื่อนเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายและแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และธรรมชาติอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หากเราเดินหน้าเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งอุปสงค์ และอุปทานให้ตระหนักถึงรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาพรวม

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2567

WWF ประเทศไทย สร้างสรรค์แคมเปญ “TRAVEL IVORY FREE” เพื่อสื่อสาร และใช้สื่อที่สร้างสรรค์ เหมาะสม และเข้าใจได้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดความสนใจและการมีส่วนร่วมของ TRAVEL IVORY FREE จากเป้าหมายที่เป็นไปได้ และเพิ่มการรับรู้ของ TRAVEL IVORY FREE ในหมู่นักท่องเที่ยว

กิจกรรมโครงการ TRAVEL IVORY FREE ดำเนินกิจกรรม เพื่อเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี และมีความรับผิดชอบด้วยการไม่สนับสนุนซื้อสินค้าที่ทำมาจากงาช้าง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th


เกี่ยวกับ WWF
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนโดยที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล โดยในประเทศไทยมีการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สัตว์ป่า การอนุรักษ์ป่าไม้ การอนุรักษ์มหาสมุทรและการจัดการขยะพลาสติก การหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการจัดการทรัพยากรน้ำจืด