กรมควบคุมโรค โดย สปคม. รณรงค์สร้างการรับรู้การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ (ไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19) ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

0
263

          

   นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ (ไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19) โดยนายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังร่วมกิจกรรม“รณรงค์การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19)”  เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 กรุงเทพมหานคร 

             นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าจากกรณีพบการระบาดของโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้วในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วแล้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย ดังนั้น กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรคไข้นกแก้ว พร้อมประสานความร่วมมือเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันโรคดังกล่าวฯ

               กรมควบคุมโรคได้มอบหมายสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์ “การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19) ”เพื่อสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องพฤติกรรมการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ขนส่ง จำกัด ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว โดยกิจกรรม ได้แก่ จัดบูทประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ กิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนัก และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ แผ่นพับการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ข้อควรรู้โรคไข้นกแก้วและอื่น ๆ  มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน และผลการสำรวจการรับรู้เรื่องโรคไข้นกแก้วในประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม จำนวน 119 คน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินโรคไข้นกแก้วมาก่อน (ร้อยละ68.9) รองลงมา เคยได้ยิน (ร้อยละ 31.1)โดยเคยได้ยินจากข่าว และความวิตกกังวลต่อโรคไข้นกแก้วมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง

             นายแพทย์สุทัศน์กล่าวต่อว่าโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ยาก ซึ่งมีนกเป็นพาหะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัขและแมว โดยคนจะสามารถติดต่อโรคนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขนและมูลแห้งของนก กลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์   คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น โดยผู้ติดเชื้อมักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการพบผู้เสียชีวิตสามารถพบได้น้อยมาก

               ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนรับฟังข่าวด้วยความตระหนัก รับทราบความเสี่ยงของภัยสุขภาพ เพื่อทราบแนวทางป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนกตกใจ หรือหลงเชื่อข่าวปลอมจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถติดตามข่าวได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการป้องกันโรคไข้นกแก้วสามารถทำได้ง่าย โดยประชาชนควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และหลังจากสัมผัสสัตว์แล้วต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หมั่นสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการไข้รวมถึงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422