ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ในหนึ่งครอบครัวจึงประกอบไปด้วยสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป ‘Sandwich Generation’ คือกลุ่มคนรุ่นตรงกลาง ต้องแบกรับหน้าที่จัดการดูแลสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวที่มีความต้องการแตกต่างกัน สร้างความซับซ้อนเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน KBank Private Banking เผยคำแนะนำในการจัดการเพื่อให้การเก็บรักษาและส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และตรงตามความต้องการของคนทุกรุ่น
จากที่คนทั่วโลกมีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคม ปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกำลังเดินทางเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) กล่าวคือเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ด้วยอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้นทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมา บางครอบครัวประกอบไปด้วยรุ่นพ่อแม่ที่สูงอายุ รุ่นตรงกลาง และรุ่นทายาท โดยภาระในด้านการดูแลครอบครัวทั้ง 3 รุ่นตกอยู่ที่รุ่นตรงกลางหรือที่เรียกว่าแซนวิช เจเนอเรชั่น (Sandwich Generation) ที่เปรียบเสมือนแซนวิชที่ถูกประกบด้านบนด้วยพ่อแม่ ตรงกลางเป็นตัวเองและถูกประกบด้วยลูกอีกชั้นหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องพบกับปัญหาความกดดันในการรับผิดชอบครอบครัวทั้ง 3 รุ่น ทั้งในด้านการใช้จ่ายประจำวัน การวางแผนการเงินของครอบครัวและการส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัว
นอกจากต้องรับบทหลักในการดูแลครอบครัวแล้ว แซนวิช เจเนอเรชั่นยังเป็นตัวกลางที่ต้องคอยไกล่เกลี่ยความต้องการที่แตกต่างในด้านมุมมองของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลทรัพย์สินและการลงทุนที่ดูเหมือนว่าจะมีมุมมองและวิธีการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในรุ่นพ่อแม่สูงอายุที่มักจะออมเงินในรูปแบบของเงินฝาก และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือการลงทุนด้วยการซื้อที่ดินโดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อให้แก่ทายาทรุ่นหลังได้ แต่ในขณะเดียวกัน รุ่นทายาทกลับมองว่าการฝากเงินหรือการลงทุนดังกล่าวทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยและทำให้ทรัพย์สินเติบโตไม่ทันสภาวะเงินเฟ้อจนท้ายที่สุดทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าลดลง คนรุ่นนี้จึงสนใจที่จะลงทุนในการลงทุนอื่นๆ ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก เช่น การลงทุนใน Sustainability Business เป็นต้น ในด้านการลงทุนในที่ดินคนรุ่นทายาทมองว่าเป็นทรัพย์สินที่จัดการยาก ต้องเฝ้าระวัง มีภาระค่าใช้จ่าย ขาดสภาพคล่อง ใช้ประโยชน์ได้ยาก และที่ดินบางผืนมีการปรับราคาขายไม่เท่าอัตราเงินเฟ้อ
นอกจากหน้าที่การดูแลทรัพย์สินของครอบครัวให้ปลอดภัยและมูลค่าไม่ลดลงแล้ว แซนวิชเจเนอเรชั่นยังต้องเตรียมพร้อมเพื่อการส่งต่อทรัพย์สินให้แก่รุ่นทายาท โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนจากขนบแบบดั้งเดิมที่เคยสืบทอดกันมา จากการศึกษาร่วมกันระหว่าง KBank Private Banking กับ Lombard Odier ได้พบว่าหลัง Covid-19 ครอบครัวส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการส่งต่อมากขึ้น ครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูง เริ่มให้ความสำคัญกับความต้องการของทายาทที่จะเข้ามารับธุรกิจต่อ โดยพบว่าทายาทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่มีอิสระ บางส่วนมีแนวโน้มอยากทำธุรกิจของตัวเอง และเนื่องจากคนรุ่นพ่อแม่มีอายุที่ยืนยาว สามารถทำงานจนถึงวัยที่มากขึ้น ทำให้รุ่นที่มารับช่วงต่อมีเวลาในการเรียนรู้การบริหารจัดการน้อยมาก หรือไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนา และตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจ ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่แซนวิช เจเนเรอชั่นต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้
KBank Private Banking ในฐานะผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวให้คำแนะนำว่าการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารภายในครอบครัว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยมีข้อมูลว่า 30% ของการวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินที่ไม่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นจากทายาทที่จะรับช่วงต่อไม่ทราบว่าจะได้รับการส่งต่อในด้านใด จึงไม่ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อกำหนดแนวทางการจัดการทรัพย์สินของครอบครัวได้แล้ว จำเป็นต้องวางแผน และเลือกใช้เครื่องมือหลากหลายที่เหมาะสมสำหรับความต้องการของครอบครัว เช่น การใช้ที่ปรึกษาด้านธุรกิจเข้ามาช่วยจัดโครงสร้างให้ก้าวข้ามผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัว และการให้มืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันที่มีการพัฒนาหลากหลายและเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มากในกลุ่ม HNWIs ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจจะตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้การจัดการทรัพย์สินของครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการปรึกษาการบริหารทรัพย์สินภายในครอบครัว https://kbank.co/3NrNbw9