สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
พร้อมด้วย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย และคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตรและอาหารสมัยใหม่ เตรียมจัดหลักสูตร Sandbox “บริหารธุรกิจบัณฑิต” (การจัดการธุรกิจการเกษตร) ปี 2568 มุ่งสร้างนักศึกษาที่สามารถเรียนไปทำงานไป จบ 3 ปี 2 ปริญญา โดยมี ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและกิจการพิเศษ พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา ผู้ประกอบการและนวัตกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ของ มรภ.ยะลา เริ่มตั้งแต่ปี 2564 โดยได้จัดตั้งศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านเกษตรและอาหาร พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักศึกษา ผู้ประกอบการ/ประชาชน อาทิ หลักสูตรการเลี้ยงไก่เบตงเชิงพาณิชย์ การเลี้ยงผึ้งชันโรง การเลี้ยงแพะ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตสารชีวภัณฑ์ ที่นำมาแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยมีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานเป็นพื้นที่บูรณาการ การจัดการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติของนักศึกษาระหว่างเรียน ทำให้นักศึกษาและประชาชน มีอาชีพและมีรายได้

นอกจากนี้ ในปี 2566 มรภ.ยะลา ได้จัดทำหลักสูตร Sandbox “หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต” (การจัดการธุรกิจการเกษตร) ร่วมกับ มรภ.กลุ่มภาตใต้ ได้แก่ มรภ.นครศรีธรรมราช (ศิลปะและวัฒณธรรมเชิงท่องเที่ยว) มรภ.สุราษฎร์ธานี (อาหาร) มรภ.สงขลา (สุขภาพและความงาม) และ มรภ.ภูเก็ต (ท่องเที่ยวและบริการ) ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2568 รุ่นแรก รวมกว่า 360 คน

ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวว่า มรภ.ยะลา สังกัดในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยกระดับทั้งเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดย มรภ.ยะลา ได้ใช้จุดเด่นในเรื่องเกษตรสมัยใหม่ มีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานเป็นหัวใจในการทำงาน มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างครบวงจรไปสู่การเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาและประชาชน ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัย ถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ อันนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศได้อีกด้วย

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่า ขอชื่นชมการทำงานของ มรภ.ยะลา ร่วมกับชุมชน ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรสมัยใหม่สร้างรายได้ อาทิ การเลี้ยงไก่เบตง ซึ่งเป็นไก่พื้นบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความต้องการในตลาดสูง มรภ.ยะลา ได้เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพและช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงไก่ พัฒนาอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เกิดการลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากนั้นการต่อยอดหลักสูตรระยะสั้นจากการดำเนินงานศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ของ มรภ. ทั้ง 5 แห่ง จนมาสู่การทำหลักสูตร Sandbox ของ มรภ. กลุ่มภาคใต้ 5 แห่ง ซึ่งจะใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี และได้รับ 2 ปริญญา จะเป็นต้นแบบของหลักสูตร การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (area based) ที่เป็นการศึกษาฐานสมรรถนะ (competency based) จากการเรียนรู้คู่การทำงาน ต่อไป