ธ.ก.ส. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% หนุนการฟื้นตัวกลุ่มเปราะบาง

0
423

ธ.ก.ส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงร้อยละ 0.25 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับลูกค้าเกษตรกรกลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิตจนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้ เผยในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยไปแล้วกว่า 1.396 ล้านราย ต้นเงินกว่า 201,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ พร้อมเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการพักหนี้ฯ เฟส 2 เร็ว ๆ นี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงผู้ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสที่จะฟื้นตัว  ปรับตัว ภายใต้ต้นทุนเงินที่เหมาะสม ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้เข้ามาสนองนโยบายและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้ารายย่อย หรือมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถลดภาระ ช่วยสร้างโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคการผลิตให้มากขึ้น

ธ.ก.ส. ตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางที่สอดคล้องกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงร้อยละ 0.25 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง โดยมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 67

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่าในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องผ่าน มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้กับเกษตรกรที่มีหนี้รวมต้นเงินคงเหลือทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาทซึ่งมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. BAAC Mobile ถึง 1.85 ล้านราย ต้นเงินกว่า 257,000 ล้านบาท โดยในจำนวนลูกค้าที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้แล้วกว่า 1.39 ล้านราย หรือกว่าร้อยละ 90 ของ    ผู้แจ้งความประสงค์ร่วมมาตรการ และในจำนวนนี้มีลูกค้าที่แสดงความประสงค์เข้าหลักสูตรการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” แล้วจำนวน 1.3 แสนราย โดยธนาคารจะดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ให้ได้จำนวน 3 แสนรายภายในเดือนกันยายน 2567 นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านโครงการพักชำระหนี้ เฟส 2 เร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบครบวงจรมาโดยตลอด ด้วยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระของครอบครัวแทนการกู้เงินนอกระบบ อาทิ สินเชื่อแทนคุณ อัตราดอกเบี้ย MRR และสินเชื่อเงินด่วนคนดี วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับสมาชิก อสม. และ อสส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน หรือผ่อนชำระเพียง 500 บาทต่อเดือน เป็นต้น การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหนี้ของลูกค้าเกษตรกร ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 676,677 ราย เป็นเงินกว่า 51,934 ล้านบาท และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ โดยจ่ายสินเชื่อไปแล้ว 545 ล้านบาท ควบคู่กับการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและสถาบันการเงินอื่น ๆ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งช่วยลดภาระในการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร ธ.ก.ส. จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือดูแลเกษตรกรลูกค้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีความเข็มแข็ง มีขีดความสามารถในการสร้างรายได้  ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน