คำแถลงขอบคุณรัฐบาลของ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์

0
206

ตามที่ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร  สมาคมอาคารชุดไทย  สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย  สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์  และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกอบกับทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลได้ออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง

ทั้ง  7  องค์กรต้องขอขอบพระคุณคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีและการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

1. มาตรการเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองในการซื้อที่อยู่อาศัยจากระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท  และปรับปรุงค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 1% เป็น 0.01% โดยผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์  และมิใช่เป็นเพียงการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น  เนื่องจากที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่า 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสอง จะส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่างๆ จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น

มาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะดูเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่

2. มาตรการเรื่องการนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างบ้านมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนล้านละ 10,000 บาท และโดยรวมไม่เกิน  100,000  บาท นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนก่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเอง รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ ในการก่อสร้างบ้าน และผู้รับจ้างสร้างบ้านจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี )

นอกจากนี้ ยังเป็นการจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจรับสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น เพราะผู้ที่จะว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านย่อมจะต้องกดดันให้ผู้รับจ้างสร้างบ้านต้องทำสัญญาโดยถูกต้อง เพื่อผู้ว่าจ้างสร้างบ้านจะได้รับการลดหย่อนภาษีของตนเองในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. มาตรการในการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลังจาก 1.5 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะสามารถที่จะขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง ประกอบกับ ประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย

4. เรื่องการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางโดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5  ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้  นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานของรัฐที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

5. เรื่องการขยายระยะเวลาเช่าให้มีระยะเวลาเช่าเกินกว่า 30 ปี และกำหนดให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ (Real right) ภาคเอกชนมีความเห็นว่าประเด็นนี้ถือเป็นการวางโครงสร้างการอยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในระยะ

ยาวของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว  ดังนั้นความต้องการความมั่นคงเรื่องที่สิทธิการเช่าจึงต้องตามมาด้วย ในขณะเดียวกันการขยายระยะเวลาเช่ายังเป็นประโยชน์ต่อผู้

เช่าซึ่งเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ดินที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมากซึ่งเป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐหรือเป็นที่ดินของเอกชนที่ไม่ประสงค์จะขายที่ดินออกมาเพื่อการพัฒนา  แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่า การขยายระยะเวลาเกินกว่า 30 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องระยะเวลา ที่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการในทรัพย์สินที่เช่าตลอดช่วงอายุสัญญา พร้อมกับจะเป็นการแก้ปัญหาการถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวต่างชาติด้วย

6. เรื่องการขอลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรร ได้แก่ ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า  50  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า  35  ตารางวา  ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแฝด จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า  28  ตารางวา  และที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า  14  ตารางวา ซึ่งการลดขนาดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรรลงมาจะมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและขนาดครอบครัวที่เล็กลง  รวมถึงจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนได้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้นจากระดับราคาที่ลดลง ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่  21 มีนาคม 2567  ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำมาอย่างต่อเนื่อง  ทั้ง 7  องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์มีความเห็นว่า  มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาดังกล่าว  และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  และภาคสถาบันการเงินด้วย  พร้อมกันนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย  และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป   รวมถึงจะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ  และภาคการลงทุนอื่นๆ  รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนด้วย  ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

( นายอิสระ บุญยัง )

ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

      ( นายพีระพงศ์   จรูญเอก )                                                         ( นายวสันต์    เคียงศิริ )    

      นายกสมาคมอาคารชุดไทย                                          นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

    ( นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ )                                                 ( นายโอฬาร   จันทร์ภู่ )

 นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย                                                 นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

        ( นายปรีชา ศุภปีติพร )                                                    ( นายประวิทย์ อนุศิริ )

นายกสมาคมการขายและการตลาด                                          นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย