ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2564 ตนพร้อมคณะผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี 2564 ครั้งที่ 24 (24th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting หรือ AIRM) ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่างหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำกับดูแลด้านประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกในด้านการพัฒนาการกำกับดูแลประกันภัยและความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งในครั้งนี้หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) เป็นประธานการประชุมฯ และมีเลขาธิการ คปภ. เป็นรองประธาน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ มีวาระพิเศษที่สำนักงาน คปภ.ได้นำเสนอโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศ และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองครอบคลุมโรค COVID-19 สำหรับผู้ที่มีความประสงค์เดินทางเข้ามาในประเทศของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบและพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการฯ ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้านข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอาเซียน โดยในระยะถัดไป หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของอาเซียนจะร่วมกันหากันถึงแนวทางในการขยายขอบเขตความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐสาขาอื่น ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ต่อไป
ในการนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศมาเลเซีย (Bank Negara of Malaysia: BNM) ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดริเริ่มของโครงการฯ นี้ เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในอาเซียนและจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางภายในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan: OJK) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมสนับสนุนโครงการฯ เนื่องจากจะสามารถต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่ใช้ร่วมกันในอาเซียนและช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือร่วมกันในเรื่องต่างๆ อาทิ 1) ความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) โดยสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนให้มีการสัมมนาในหัวข้อ Public Asset Insurance ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน 2) ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ ACMI และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องการใช้ระบบประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน (ACMI MOU) เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงาน คปภ. ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการประกันภัยรถผ่านแดนภาคบังคับอาเซียนว่า ควรมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงการบังคับใช้การประกันภัยรถผ่านแดนภาคบังคับ
ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ในเรื่องการบรรจุแนวคิดเรื่อง Sustainability ลงในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนของบริษัทประกันภัยในผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว การส่งเสริมการการตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืน การให้รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีพัฒนาการด้าน ESG อีกทั้ง สำนักงาน คปภ. ยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในด้านต่าง ๆ เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-policy) โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) การพัฒนา OIC Gateway การจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) และการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยประจำปี 2564 (Thailand InsurTech Fair) และภายหลังจากการประชุม AIRM สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียน
“การประชุมในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไทยจะผลักดันโครงการ COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN และการประชุม AIRM ในปี 2565 ประเทศไทย จะเป็นประธาน AIRM และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting : 25th AIRM) โดยสำนักงาน คปภ. จะเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุมฯ อย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย