นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (ไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance : TLI) หรือ บริษัทฯ) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ว่า บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 19,450.81 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) อยู่ที่ 2,909.68 ล้านบาท เติบโต 33.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) อยู่ที่ 1,373.55 ล้านบาท เติบโต 7.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) อยู่ที่ 15,167.08 ล้านบาท โดยยังมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์อยู่ที่ 88.6%
ในขณะเดียวกันบริษัทฯ มีกำไรจากเงินลงทุนสำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อยู่ที่ 2,240.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.0% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากการจัดประเภทรายการใหม่ของเงินลงทุนในบริษัทร่วมในปี 2564 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไทยไพบูลย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด โดยเปลี่ยนประเภทจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์แทน ซึ่งส่งผลให้มีการบันทึกผลขาดทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ขณะที่บริษัทฯ ไม่มีการจัดประเภทรายการใหม่ในลักษณะดังกล่าวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565
นายไชยกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มุ่งเปลี่ยนผ่านองค์กรภายใต้วิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบครบวงจร เพื่อเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provider ในทุกช่วงชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของผู้เอาประกัน ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บริการ ช่องทางจัดจำหน่าย บุคลากร และเทคโนโลยี ตลอดจนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับความพร้อมอย่างรอบด้านในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และความผันผวนทางเศรษฐกิจจากปัจจัยต่าง ๆ
สำหรับกลยุทธ์การขายผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรภายใต้สถานการณ์ของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Investment–linked Product) ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Product) และผลิตภัณฑ์คุ้มครองสุขภาพ (Health Insurance) เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเน้นการขยายตลาดทั้งกลุ่มผู้เอาประกันเดิม ผ่านการขายกรมธรรม์ที่สอง หรือ Second Policy รวมถึงการขายทั้งครอบครัว และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เน้นการขยายตลาดไปสู่ลูกค้าระดับบน หรือกลุ่ม High Net Worth และกลุ่มคนวัยทำงาน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทฯ และพันธมิตรที่มีแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในช่วงที่ยังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้า
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน หรือ ค่าใช้จ่ายในส่วนของผลประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยในรูปแบบ “เจอ จ่าย จบ” (1) และการเพิ่มขึ้นของจำนวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโรคโควิด-19 ที่โดยทั่วไปเป็นการให้ความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและสัญญาเพิ่มเติมชดเชยรายได้ระหว่างเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ถูกหักกลบด้วยการลดลงของการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในกรณีอื่นเนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อัตราส่วนการสูญเสีย (Loss Ratio) ที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 8.0% ขณะที่การจ่ายเงินผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 มีจำนวน 473.70 ล้านบาท
นอกจากนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทฯ ยังคงมีความมั่นคง โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 360.57% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ยังคงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ปี 2565 คือปีที่สำคัญยิ่งของไทยประกันชีวิต เพราะนอกจากเป็นปีที่บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจมาครบ 80 ปี ยังเป็นปีที่เราจะก้าวสู่มิติใหม่ของการเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืนที่มุ่งสร้างความมั่นคงของชีวิตและการเงินให้กับคนไทย โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งคาดว่าจะเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตของไทย และก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ระดับนานาชาติอย่างแท้จริง โดยขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนดังกล่าว ซึ่งจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป” นายไชยกล่าว
หมายเหตุ:
(1) ผลิตภัณฑ์ประเภท “เจอ จ่าย จบ” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ที่ผู้เอาประกันจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินก้อน (Lump Sum) ตามวงเงินที่ได้ทำประกันไว้ หากตรวจพบโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายโดยบริษัทประกันวินาศภัย