หากคุณเป็นคนหนึ่งที่นอนไม่ค่อยหลับ สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ และมีการรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ หรือ มีอาการปวดหัวเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ อาการปวดศีรษะ หรือ ปวดหัว เป็นอาการป่วยที่เกิดได้บ่อยที่สุด นับเป็นโรคยอดฮิตของทุกเพศทุกวัย ในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ที่เป็นได้มากเช่นกัน อาการปวดหัวเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในสมอง ปัจจัยภายนอก อาการปวดแต่ละส่วนสามารถแยกออกเป็นโรคได้อีกหลายชนิด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ เราจึงควรรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดหัว และ ไม่ปล่อยให้ตัวเองปวดหัวเรื้อรัง
กลุ่มที่ควรระวังมากเป็นพิเศษหากมีอาการปวดหัว ได้แก่ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลันโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย , ผู้สูงอายุ 50 ปี ขึ้นไป , ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งเต้านม และกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อเอดส์
สาเหตุของอาการปวดหัว แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ
- การปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ความดันสมองเพิ่มผิดปกติ ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น โดยสามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกายทางสมอง ซักประวัติผู้ป่วย รายละเอียดของการปวดศีรษะ ลักษณะการปวดและความรุนแรง เมื่อพบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการใช้คลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI), การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป
- การปวดศีรษะแบบไม่พบสาเหตุชัดเจน
- ปวดหัวแบบตึงตัว (Tension type headache) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดกับบุคคลซึ่งมีความเครียด เหนื่อย ทำงานหนัก ลักษณะการปวดมักเป็นแบบแน่นๆ หรือ รัดทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ โดยอาการปวดมักมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วยได้ อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และมักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache) เป็นโรคที่พบได้บ่อย และมักได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด โดยโรคนี้มักพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน ลักษณะการปวดมักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งแสง เสียง หรือกลิ่น ผู้ป่วยบางรายมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไมเกรนส่วนใหญ่มักจะปวดนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดนานถึง 3 วัน
- ปวดศีรษะแบบกลุ่ม (Cluster headache) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยมักมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย มักเกิดทันที ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับ มักเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาท Parasympathetic ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าด้านที่มีอาการปวดหัว
- ปวดศีรษะแบบเรื้อรังทุกวัน (Chronic daily headache) ผู้ป่วยชนิดนี้มักมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแบบ tension หรือแบบไมเกรนก็ได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังมากกว่า ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาเกิน ซึ่งเกิดจากการซื้อยากินเอง การใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ ซึ่งทำให้มีอาการปวดเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้อีก เช่น ภาวะไซนัสอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ MRI เป็นต้น เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายออกไป
แนวทางการรักษา กรณีปวดศีรษะ และตรวจพบพยาธิสภาพของโรคต่างๆ แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบอะไร เช่น เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดโป่งพอง อาจจะต้องผ่าตัด เป็นต้น กรณีปวดศีรษะที่ไม่ก่ออันตราย หากตรวจไม่พบพยาธิสภาพ แพทย์จะรักษาตามลักษณะอาการ ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่.. - รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาคลายเครียด พร้อมทั้งแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
- การฉีดยารักษาอาการปวดด้วยการ block เส้นประสาทใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มีประสิทธิภาพ และสามารถลดอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถบรรเทาอาการโรคปวดศีรษะได้หลายชนิด เช่น โรคไมเกรน โรคปวดศีรษะแบบ cluster โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวด
- การฉีดยาลดการทำงานของเส้นประสาท และการฉีดยารักษาไมเกรนด้วย Botox ช่วยยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มันเกิดอาการ สามารถช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะได้
- การทำกายภาพบำบัด การนวด การยืดกล้ามเนื้อ
เมื่อมีอาการปวดหัวผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด กับ โปรแกรมตรวจหาสาเหตุอาการปวดศีรษะ สามารถตรวจได้ครบเพื่อวิเคราะห์อาการอย่างแม่นยำ อาทิ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ ตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ตรวจระดับไขมันในเลือด (ไขมันชนิดดี) ตรวจระดับไขมันในเลือด(ไขมันชนิดไม่ดี) การตรวจที่มีการบ่งบอกว่ามีการอักเสบ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 4 อาคาร A โทร 02-617-2444 ต่อ 7451,4484 หรือ Call Center 1772 ตลอด 24 ชั่วโมง