
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ “SiPH” อีกหนึ่งโรงพยาบาลภายใต้การดูแลและกำกับโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก้าวสู่ปีที่ 14 พร้อมเดินหน้าสานต่อแนวคิด “ผู้รับ ผู้ให้” เดินหน้าขยายพื้นที่ ICU รองรับผู้ป่วยวิกฤตเพิ่ม 17 เตียง เปิดหน่วยดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังใกล้ชิดเป็นพิเศษ หรือ High Dependency Unit (HDU) พร้อมยกระดับการรักษาด้วยเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยวินิจฉัยและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted da Vinci Surgery) ครอบคลุมการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดในช่องท้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียม เป็นต้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีอายุครบรอบ 137 ปี ด้วยเพราะชาวศิริราชทุกรุ่นช่วยกันมุ่งมั่นทุ่มเทปฏิบัติงานตาม พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็น ‘สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน’
โดยมีภารกิจในการดูแลผู้ป่วยทุกฐานะ มอบการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการทำวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่มวลมนุษยชาติ และรองรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชเพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดยปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยมาใช้บริการที่เป็นผู้ป่วยนอกมากกว่าสามล้านรายและผู้ป่วยในมากกว่าหนึ่งแสนราย ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราชส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ค่อนข้างจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาของผู้ป่วยสูงมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับงบประมาณจากการบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคม โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นหนึ่งโครงการของ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ด้วยแนวคิด ‘ผู้รับ ผู้ให้’

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จากการบริการทางการแพทย์คืนสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ศิริราช ทุกครั้งที่ผู้รับบริการได้รับการดูแลรักษา ทุกคนจะเป็น ‘ผู้รับ’ และ ‘ผู้ให้’ ในเวลาเดียวกัน และเป็นหนึ่งในพลังบวกที่ได้ร่วมช่วยเหลือและสร้างโอกาสทางสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วยที่ขาดแคลนอีกหลายชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช และยังเป็นการช่วยพัฒนายกระดับการแพทย์ไทยสู่ความเป็นเลิศในเอเชียอาคเนย์สืบต่อปณิธาน ผู้รับ ผู้ให้ ที่มุ่งสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า “ในโอกาสเข้าสู่การดำเนินการในปีที่ 14 ทางเราได้วางแผนการให้บริการและดูแลผู้ป่วยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤต ในปี พ.ศ. 2567 ได้เปิดบริการ Respiratory Care Unit (RCU) เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤตทางเดินหายใจโดยแยกพื้นที่พิเศษ
เพื่อการดูแลเฉพาะทางที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอย่างรุนแรง หรือจำเป็นต้องได้รับการช่วยหายใจอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรังระยะรุนแรง ผู้ที่ติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรง พร้อมทั้งการขยายพื้นที่ผู้ป่วยวิกฤต ICU เพิ่มในช่วงปลายปี พ.ศ. 2568 โดยจะเปิดบริการเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 17 เตียง โดยจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 89 เตียง นอกจากนี้มีแผนการเปิด High Dependency Unit (HDU) เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังใกล้ชิดเป็นพิเศษ สำหรับดูแลผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ‘ระดับกลาง’ คือ อาการยังไม่ถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือยังไม่รุนแรงที่จะต้องเข้า ICU ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุมากต้องการการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีภาวะเปราะบางและต้องการการบริบาลแบบใส่ใจใกล้ชิด ในส่วนของการพัฒนามาตรฐานการรักษา ทางโรงพยาบาลได้ยกระดับการดูแลรักษาผ่านการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ เทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยและสนับสนุนเพื่อวิเคราะห์และสร้างความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษามากยิ่งขึ้น

รวมทั้งการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted da Vinci Surgery) มาใช้ในหัตถการที่ต้องการความละเอียดสูง ทั้งการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดในช่องท้อง ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียม โดยทำหน้าที่ควบคู่กับศัลยแพทย์ที่มี
ความเชี่ยวชาญการผ่าตัด ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ทั้งความปลอดภัย เพิ่มโอกาสการกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาที่เรายึดมั่น คือ การดูแลด้วยหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของ SiPH อย่างเต็มความสามารถ ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่ส่งต่อกันมาจากศิริราชสู่ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในโอกาสที่ก้าวสู่ปีที่ 14 ของเรา ได้สานต่อแนวคิด ‘ผู้รับ ผู้ให้’ ผ่านวิดีโอเรื่อง ‘Pass the chance’ เพื่อสร้างมุมมองให้สังคมตระหนักถึงการเป็น ‘ผู้ให้’ เพราะทุกครั้งที่คุณมาที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คุณได้มากกว่าการรักษา คือได้ให้ การให้ที่ส่งต่อไปยังผู้ป่วยอีกมากมายที่โรงพยาบาลศิริราชให้มีโอกาสได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน ทั้งช่วยลดความแออัด และเป็นการขยายการบริการทางการแพทย์ให้เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ พร้อมทั้งมอบโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรอยยิ้ม ความสุข และความหวังให้กับทุกคน”