โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคร้าย…จากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ

0
1913

โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ถือเป็นโรคร้ายอีกโรคหนึ่งที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่มีข้อบ่งชี้แสดงอาการป่วยของร่างกายในหลายๆ อวัยวะร่วมกันโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน หรือต่างช่วงเวลาก็ได้ มีอาการเป็นๆ หายๆ ของแต่ละอาการเป็นระยะ และอาการรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน อาจมีข้อบ่งชี้โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE ได้

พญ. กัลยกร เชาว์วิศิษฐ แพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้นทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่นๆ เพิ่มเติมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย และ แสงแดด เป็นต้น ในโรคนี้ร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear antibody ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค

อาการของโรคจะแสดงความผิดปกติในร่างกายในหนึ่งอวัยวะหรือหลายอวัยวะ ที่พบได้บ่อยคือ ปวดข้อ เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำๆ จนถึงไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เกิดผื่นผิวหนังตามใบหน้า แขน ขา ที่อยู่บริเวณนอกเสื้อผ้า ผมร่วง มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ มีเกร็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรง อาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ การวินิจฉัยต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติของผู้ป่วย การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์หัวใจและปอด เป็นต้น

SLE เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมีการติดตามการรักษาสม่ำเสมอ เพราะการรักษาอย่างสม่ำเสมอสามารถทำให้โรคสงบได้ โดยเริ่มจากประเมินความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็นว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะอาการของแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน หลังจากนั้นจึงจะวางแผนการรักษาและการให้ยา ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและเกิดการอักเสบของร่างกายในหลายระบบ แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิเพื่อคุมโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละคนจึงได้ยาแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค

โดยมีข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วย คือ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกแดด ลดและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโดยการทานอาหารที่สะอาด รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดหรือเพิ่มยาเอง มาตรวจหรือพบแพทย์ตามนัดอย่าให้ขาด การพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม รพ.กรุงเทพ โทร.1719  หรือ แอดไลน์ Line: @bangkokhospital