โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

0
1535
Young female eye specialist determines distance of eyes pupils to patient

อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งดวงตาของเรา ดวงตามักเริ่มเสื่อมตามอายุ  ยิ่งอายุมากจะพบความเสื่อมและโรคตาได้มากขึ้นตามวัย จึงควรระวังใส่ใจรักษาสุขภาพตา ควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะได้ทราบภาวะของตา ถ้าพบความผิดปกติในช่วงแรกจะได้ป้องกันรักษาอย่างเหมาะสม หรือชะลอความเสื่อม ป้องกันการสูญเสียดวงตาได้อย่างถาวร

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและเลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตาช่วยให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงทีและป้องกันการสูญเสียดวงตา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคตาเป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่ามีภาวะผิดปกติที่ควรรักษา โดยโรคและปัญหาทางตาที่มักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1)สายตาสูงวัยหรือสายตายาวตามอายุ (PRESBYOPIA) คือ การเสื่อมสภาพของดวงตาตามอายุที่มากขึ้น เกิดได้กับทุกคน ในทุกปัญหาสายตา เกิดจากเลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ช่วยปรับกำลังในการมองใกล้เริ่มทำงานแย่ลง  ทำให้ต้องใส่แว่นตาเวลามองใกล้ แก้ไขด้วยการใช้เลนส์ที่มีกำลังรวมแสงมากขึ้น ในผู้ที่มีสายตาปกติและมีสายตาสูงวัยเมื่ออายุมากขึ้น แก้ได้ด้วยการใส่แว่นสำหรับการมองใกล้ หรือใส่เลนส์ชัดหลายระยะ เพื่อการมองเห็นได้ทั้งไกลและใกล้ ในผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียงอยู่แล้วเกิดมีสายตาสูงวัย จะต้องปรับค่าแว่น จากที่จะมีแว่นอันเดียว ต้องเปลี่ยนเป็นแว่นหลายระยะ (Progressive Glasses) หรือ 2 ระยะ (Bifocal Glasses) เพื่อให้มองได้ทั้งไกลและใกล้ การปรับค่าคอนแทคเลนส์ หรือแก้ไขด้วย Femtolasik เพื่อแก้สายตายาวตามอายุ (Femtolasik with presbyond) หากไม่ต้องการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์

2)ต้อกระจก (CATARACT)เกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาจะแข็งและขุ่นขึ้นสายตามัวลง ถ้าเกิดต้อกระจกบริเวณขอบๆ ของเลนส์รอบนอก สายตาอาจจะมองได้คมชัดเป็นปกติ แต่หากเกิดบริเวณตรงกลางเนื้อเลนส์ตาจะรู้สึกรบกวนสายตาได้ อาการที่พบบ่อย คือ สายตามัวเหมือนมีฝ้าหมอกบัง เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการขับขี่โดยเฉพาะเวลากลางคืน เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม เปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ ต้อกระจกบางชนิดทำให้สายตาสั้นมากขึ้นได้การรักษาคือผ่าตัดสลายต้อกระจก ปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้เครื่องสลายต้อทำให้มีเพียงแผลขนาดเล็ก ทำให้สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้นด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังสลายต้อแพทย์จะใช้เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่ ซึ่งมีเลนส์หลายแบบให้เลือกตามความต้องการใช้งานของคนไข้แต่ละคน หากต้อกระจกสุกจำเป็นต้องผ่าตัดโดยเร็วเพราะหากปล่อยไว้จะเกิดอาการปวดตาอย่างรุนแรงและอาจเกิดต้อหินแทรกซ้อนได้ แนะนำให้ตรวจตาเป็นระยะๆ เมื่ออายุมากขึ้น เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที 

3)ต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา มีโอกาสสูญเสียการมองเห็นได้ อาการที่สังเกตได้หากเป็นต้อหินเฉียบพลันคือมีอาการปวดตา ตามัว และเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากความดันตาที่สูงมาก ในกรณีที่เป็นต้อหินชนิดรุนแรงเฉียบพลัน รักษาด้วยการใช้ยาหยอดตาและยารับประทานลดความดันลูกตา ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์และการผ่าตัด ทั้งนี้ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอาการแสดง ซึ่งเป็นภัยเงียบทำให้เส้นประสาทโดนทำลายโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันโรคต้อหินพบในคนอายุน้อยตั้งแต่ 30 ขึ้นไปมากขึ้น 

4)น้ำวุ้นตาเสื่อม (VITREOUS FLOATERS) เกิดจากวุ้นตาที่อยู่บริเวณส่วนหลังของลูกตาติดกับจอประสาทตาเสื่อมลง เมื่อวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) น้ำวุ้นในตาจะเกิดการเปลี่ยนสภาพ บางส่วนกลายเป็นของเหลวบางส่วนจับเป็นก้อนหรือเป็นเส้นเหมือนหยากไย่ และอาจจะหดตัวลอกออกจากผิวจอประสาทตา คนไข้จะมองเห็นเป็นเงาดำ จุดเล็กๆ หรือเส้นหยากไย่ลอยไปมาได้ตามการกลอกตา หรือมีแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ สาเหตุมักเกิดจากความเสื่อมตามวัย พบมากในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มสายตาสั้น ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคน้ำวุ้นตาเสื่อมอายุน้อยลงเรื่อยๆ หากไม่รับการรักษาอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ด้านการรักษา หากมีรอยฉีกหรือรูที่จอตาจะรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ แต่ถ้าพบว่ามีจอตาหลุดลอกรักษาด้วยการผ่าตัด 5)จุดรับภาพเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration : AMD) เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อมตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อาการที่สังเกตได้คือ มองไม่ชัด ภาพบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ จอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ควรรีบทำการรักษาโดยเร็วเพื่อช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองและรักษาดูแลดวงตา เลี่ยงแสงแดดจ้า เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ 

6)เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) พบในผู้ป่วยเบาหวาน สาเหตุเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้ชั้นจอประสาทในลูกตาเสื่อม ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวและบอดได้ ในผู้ป่วยบางคนไม่เคยตรวจสุขภาพตาจึงไม่ทราบว่าการมองเห็นแต่ละข้างเป็นอย่างไร เพราะตาทั้งสองข้างยังมองเห็นอยู่ แต่อาจมีด้านหนึ่งที่แย่กว่า และบางคนรู้สึกว่ามองเห็นปกติจึงไม่มาพบจักษุแพทย์ ทำให้การรักษาช้าเกินไปและตาบอดได้ในที่สุด (โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานต้องตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หรือบ่อยกว่านั้นถ้าเริ่มมีเบาหวานขึ้นตา) การตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานให้ดีจะช่วยลดความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้กับตาและอวัยวะอื่นๆ  อาการเบาหวานขึ้นตามีความรุนแรงแตกต่างกัน หากรุนแรงแพทย์จะยิงเลเซอร์ช่วย หรืออาจมีการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อรักษาจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นตา ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค แต่หากเป็นมากมีเลือดออกหรือจอตาหลุดลอกอาจวินิจฉัยการผ่าตัด 7)อาการตาแห้ง (Dry Eyes) คนไข้จะรู้สึกไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา รู้สึกแสบตาหรืออาจมีน้ำตาไหลในปริมาณมากได้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นานเกินไป การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรคและการรับประทานยาบางชนิด จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตาได้ 8)ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อเนื้อ (Pterygium)เกิดจากความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อยๆ ลุกลาม ถ้าเป็นมากจนบังหรือปิดรูม่านตาจะทำให้การมองเห็นจะผิดปกติ สายตาจะเอียงมากขึ้นหรือตามัวลง โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลต ที่ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพลง พบบ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ที่เจอทั้งแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ทราย และพบมากในผู้ที่มีอายุ 30 – 35 ปี อาการที่เกิดขึ้นคือ ตาแดง ระคายเคือง ไม่สบายตา ขณะที่ต้อลม (Pinguecula) เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาเช่นเดียวกับต้อเนื้อ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าตาดำ เป็นอยู่บริเวณเยื่อบุตาเท่านั้น  อาจมีแค่อาการระคายเคือง แต่หากเป็นรุนแรงยื่นเข้าตาดำมีโอกาสกลายเป็นต้อเนื้อได้

Elderly woman suffering from headache at home. Senior woman feels pain in head. Frustrated stressed senior older grandmother suffering from blurred eyesight, eyes strain pain ache.

โรคดวงตาต่างๆ ที่กล่าวมาอาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ในทุกช่วงวัยอาจมีความผิดปกติที่แตกต่างกัน เช่นในเด็ก เกิดปัญหาตาเข ตาเหล่ ในวัยเรียนวัยทำงาน เกิดปัญหาสายตาล้า  ตาแห้ง หรือการมองเห็นผิดปกติ แต่ไม่ว่าจะมีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง การดูแลสุขภาพดวงตาและการตรวจตาเป็นระยะ ทำให้รู้ปัญหาก่อนและแก้ไขก่อนสายเกินไป ช่วยให้มองเห็นโลกได้ชัดเจนได้อีกนาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุและเลสิก รพ.กรุงเทพ โทร.1719  หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital