โพรไบโอติกกับสุขภาพผู้หญิง เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ เพื่อไม่ให้สาวๆ เสียสมดุล

0
1740

ในยุคปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งคนนิยมที่จะใช้แนวทางธรรมชาติมากกว่าการรักษาโรคและหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็นมากขึ้น โดยหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความสนใจและนำมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็คือ การใช้ ”โพรไบโอติก” หรือ ”จุลินทรีย์ดี” นั่นเอง โดยโพรไบโอติกนี้จะช่วยในการปรับสมดุลระบบนิเวศในร่างกาย ช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ไม่ดี เสริมการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน และนอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพต่อร่างกายและระบบทางเดินอาหารแล้ว โพรไบโอติกยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้หญิงอีกด้วย เพราะช่วยดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นและระบบทางเดินปัสสาวะ เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับสาวๆ เลยทีเดียว

ความสำคัญของโพรไบโอติกกับสุขภาพผู้หญิง

ภาวะสมดุลของช่องคลอดมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสุขภาพของสาวๆ  โดยปกติแล้วในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นชนิด “แลคโตแบซิลลัส” ที่มีคุณสมบัติทำให้ช่องคลอดมีสภาวะความเป็นกรดอ่อนที่ pH ประมาณ 4.5 ซึ่งจะช่วยให้แลคโตแบซิลลัสเจริญเติบโตได้ดี แถมยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อช่องคลอดได้เป็นอย่างดี การรักษาสมดุลในช่องคลอดนี้ยังช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนปลายได้อีกด้วย

ปัญหาสุขภาพช่องคลอดในผู้หญิงไทย

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ร้อนชื้น ทำให้ง่ายต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียต่างๆ   โดยปัญหาสุขภาพช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ 3 อันดับแรก เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลล่าวาจินาลิส (40-50%) เชื้อรา (20-25%) และเชื้อพยาธิทริโฆโมแนส (15-20%) โดยที่การติดเชื้อทั้งสามชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์  ยกเว้นเชื้อราที่นอกจากติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังอาจเกิดจากการรักษาสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้นไม่ถูกต้องและเหมาะสม หรือเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคอื่นเป็นเวลานานทำให้เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกตามธรรมชาติในช่องคลอดตายไปด้วย เชื้อราที่เป็นเชื้อฉวยโอกาสจึงแพร่พันธุ์มากขึ้นและเกิดช่องคลอดอักเสบ 

โดยส่วนใหญ่มักมีอาการดังนี้ ตกขาวผิดปกติ สีและกลิ่นเปลี่ยนไป อาจมีเลือดปน มีอาการคัน ปัสสาวะแสบขัด หรืออาจรู้สึกเจ็บปวด เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่า 85% ของการติดเชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลลาวาจินาลิส จะไม่มีอาการอักเสบรุนแรง แต่มักพบปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สาวๆ สูญเสียความมั่นใจอีกด้วย

อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของผู้หญิงทั่วโลกรวมถึงผู้หญิงไทย นั่นก็คือ การติดเชื้อซ้ำซ้อน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมถึงการบั่นทอนคุณภาพชีวิตและความมั่นใจ การติดเชื้อราซ้ำซ้อนมักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 15-54 ปี โดยช่วงอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดมากที่สุดถึงร้อยละ 9 และพบว่าผู้หญิงกว่า 75% จะติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต คาดการณ์ว่าปัญหาการติดเชื้อซ้ำซ้อนในผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ภายในปี 2030  นอกจากนี้ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ผู้หญิงเราจึงควรดูแลสุขภาพจุดซ่อนเร้นอย่างถูกต้อง เพราะนอกจากจะสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้แล้ว   ยังทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ไลฟ์สไตล์ที่ควรระวัง เพราะทำให้สาวๆ เสียสมดุลในช่องคลอดตามธรรมชาติ

    • อาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดหรืออาหารหมักดองทำให้จุลินทรีย์เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการเสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี  หรือรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่และไปฆ่าจุลินทรีย์ดีในช่องคลอด  ล้วนแต่ทำให้สมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติเสียไป    
    • ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงโอกาสที่เชื้อโรคฉวยโอกาสจะเจริญเติบโตในช่องคลอดจึงมากขึ้น
    • สุขอนามัยจุดซ่อนเร้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่รักษาความสะอาดก่อนและหลังมีกิจกรรมก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคและเชื้อราเข้าสู่ช่องคลอดไปทำให้เสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี
    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและการใช้ห้องน้ำสาธารณะ การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นที่มีการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อและมีความเป็นด่างสูงล้วนแต่ไปทำอันตรายต่อจุลินทรีย์ดีบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น ทำให้เชื้อโรคฉวยโอกาสเจริญเติบโตได้ดี  รวมทั้งการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาดหรือใช้สายฉีดน้ำจากห้องน้ำสาธารณะซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อด้วยเช่นกัน 
  • การแต่งกายและความอับชื้นและการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดหรือแผ่นเล็ก การใส่เสื้อผ้ารัดรูปและผ้าใยสังเคราะห์โดยเฉพาะกางเกงยีนส์และกางเกงชั้นในที่รัดแน่น รวมทั้งการใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กปิดจุดซ่อนเร้นเพื่อการรักษาความสะอาดล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น   
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงและการใช้ยาบางชนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานจะไปเปลี่ยนสภาพของผนังช่องคลอดให้บางลงรวมทั้งค่าความเป็นกรดลดลงจนเชื้อราเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น      ที่สำคัญผู้หญิงนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนเพศหญิงที่จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น  ฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงจะไปทำให้ผนังช่องคลอดบางลงและสารอาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกธรรมชาติลดลง ทำให้ไม่สามารถผลิตกรดแลคติกได้เพียงพอจนความเป็นกรดอ่อนๆเสียไป  ไม่สามารถป้องกันและฆ่าจุลินทรีย์     ก่อโรคได้เหมือนเดิม

ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลสุขภาพของจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธี และสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการติดเชื้อซ้ำซ้อนนั่นก็คือ การปรับสมดุลของจุดซ่อนเร้น  โดยปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้อยู่ในภาวะกรดอ่อนๆ และมีปริมาณของแลคโตแบซิลลัสสายพันธุ์ธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสม  โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า  การได้รับโพรไบโอติก แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส และ แลคโตบาซิลลัส รามโนซัส ในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดการติดเชื้ออักเสบในช่องคลอด และลดโอกาศการติดเชื้อซ้ำซ้อนลงได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมไปถึงการช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ และการอักเสบเรื้อรังในช่องคลอดที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งจากการติดเชื้อนั่นเอง

ดูแลสุขภาพผู้หญิงได้ง่ายๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติก

    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกมีหลากหลายรูปแบบ สาวๆ ควรเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติกสายพันธ์ที่เป็นสายพันธุ์หลักของระบบการเจริญพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย และระบบทางเดินอาหาร ที่มีการศึกษาวิจัยรองรับถึงคุณประโยชน์ ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส รามโนซัส (HN001) แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (La-14) แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (NCFM) ที่มีปริมาณโพรไบโอติกมากเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีส่วนผสมของพรีไบโอติกเพื่อเป็นอาหารให้โพรไบโอติกใช้เจริญเติบโต เช่น อินูลินและฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) เก็บรักษาง่าย พกพาสะดวก และง่ายต่อการรับประทานการปรับสมดุลในจุดซ่อนเร้น  เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะแล้วนั้น โพรไบโอติกยังมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร  ช่วยในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์  ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารบางชนิด  รวมถึงการรักษาความสมดุลของโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดีในลำไส้ ที่มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก  ลดอาการเครียด  ช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอน และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี นอกจากจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสาวๆ เสริมบุคลิกภาพได้ทุกสไตล์ “Be Your Best Every Day” กันทุกคน

ข้อมูลวิชาการโดย ผศ. นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์