โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ชาวเน็ตมุ่งความสนใจเพิ่มมากกว่า 39% ในสัปดาห์เดียว 2.6 ล้านข้อความจาก Social Listening พบ ”อัศวิน” ถูกพูดถึงแซงนำ “วิโรจน์” ขณะที่ยืนหนึ่งนำโด่งยังเป็น “ชัชชาติ”

0
1083

นับว่าเข้มข้นเข้ามาทุกวินาทีแล้วกับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 2565 บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด เปิดเผยข้อมูลล่าสุดการรับฟังเสียงสนทนาในโลกออนไลน์ผ่านการทำ Social Listening ด้วยเทคโนโลยี AI สะท้อนเสียงชาวเน็ตที่ให้ความสนใจต่อผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่ามีผู้คนให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาก เห็นได้จากจำนวนข้อความการสนทนาโดยรวมมีมากกว่า 2.6 ล้านข้อความเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีจำนวนราว 1.9 ล้านข้อความ หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 39% ส่งผลให้การจัดอันดับที่สองและอันดับที่สามของผู้สมัครที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์เปลี่ยนไปในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ โดย “อัศวิน” ถูกพูดถึง 19.61% แซงนำ “วิโรจน์” ที่ถูกพูดถึง 18.73% แต่เมื่อดูจำนวนข้อความการสนทนาในภาพรวม อันดับหนึ่งยังยืนอยู่ที่ “ชัชชาติ” 52.19%

นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู หัวหน้าสายงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารภาวะวิกฤต บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด กล่าวว่า รู้สึกดีใจจากการที่บริษัทได้นำ Social Listening มาใช้ในการสำรวจ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์การสนทนาของชาวโซเชียล สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้ “เราหวังว่าข้อมูลที่ได้นำเสนอผ่านสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวอิศราและสำนักข่าวอื่นๆ จะทำให้ประชาชน สามารถนำข้อมูลดังกล่าว มาเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมและถูกใจที่สุด ส่งผลให้การปฏิบัติตนตามแนวทางประชาธิปไตยของคนไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด Digital Super Agency รายแรกของประเทศไทย ได้จัดทำ Social Listening เพื่อรับฟังเสียงจากโลกโซเชียลในประเด็นความสนใจที่มีต่อตัวผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นมา และพบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้วันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 ทั้งนี้ Social Listening ไม่ใช่การทำโพล แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเอไอมาเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง

ผลการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบนัยยะที่น่าจับตามากสำหรับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นหากเทียบจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ (ข้อมูลถึงวันที่ 27 เม.ย.65) ซึ่งมีชื่อติดอันดับสามกับจำนวนข้อความคิดเป็น 15.21% แต่ผ่านมาเพียงหนึ่งสัปดาห์ (ข้อมูลถึงวันที่ 5 พ.ค.) กลับถูกพูดถึงเพิ่มขึ้นคิดเป็น 19.61% ขึ้นมาอยู่อันดับสองแซงนำ “วิโรจน์” ที่ถูกพูดถึง 18.73% ส่วน “ชัชชาติ” ยังนำโด่งอยู่ที่ 52.19% โดยถูกพูดถึงเพิ่มขึ้น 21% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เสียงชาวเน็ตที่มีต่อผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดย บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด เป็นการคัดกรองข้อมูลที่รวบรวมได้จากบทสนทนาในโลกออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างๆ โดยไม่ได้ระบุพื้นที่ผู้ใช้งาน ช่วงข้อมูลในระหว่างวันที่ 1 ก.พ.- 5 พ.ค.2565 พบว่ามีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รวม 2,605,277 ข้อความ แบ่งเป็นการพูดถึงผ่าน facebook 77.78% , twitter 17.91% , website 3.64% , youtube 0.41% , pantip 0.09% , instagram 0.07% , blockdit 0.05% , tiktok 0.04% , webboard 0.01% และเมื่อจัดอันดับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 อันดับที่มีการกล่าวถึงบนโลกออนไลน์มากที่สุด ได้ผลลัพธ์ดังนี้

อันดับที่ 1 ยังคงเป็นของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 1,362,976 ข้อความ หรือ 52.19% อันดับที่ 2 เป็นของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ถูกโลกออนไลน์กล่าวถึง 512,138 ข้อความ หรือ 19.61% แซงนำ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ตกลงมาอยู่อันดับที่ 3 กับการถูกกล่าวถึงบนโลกออนไลน์ 489,158 ข้อความ หรือ 18.73%

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกการพูดถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ออกเป็น 3 ประเภท คือ แบ่งเป็นเสียงเชิงบวก เสียงเชิงทั่วไป และเสียงเชิงลบ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

อันดับ 1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 1,362,976 ข้อความ คิดเป็น 52.19% แบ่งเป็นเชิงบวก 263,789 ข้อความ เชิงทั่วไป 844,321 ข้อความ และ เชิงลบ 254,866 ข้อความ

อันดับ 2 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (ขึ้นจากอันดับ 3) ถูกกล่าวถึง 512,138 ข้อความ เชิงบวก 118,383 ข้อความ เชิงทั่วไป 301,436 ข้อความ และ เชิงลบ 92,319 ข้อความ

อันดับ 3 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (ตกจากอันดับ 2) ถูกกล่าวถึง 489,158 ข้อความ เชิงบวก 80,894 ข้อความ เชิงทั่วไป 309,604 ข้อความ และ เชิงลบ 98,660 ข้อความ

อันดับ 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 79,676 ข้อความ เชิงบวก 10,775 ข้อความ เชิงทั่วไป 61,237 ข้อความ และ เชิงลบ 7,664 ข้อความ

อันดับ 5 น.ส.รสนา โตสิตระกูล แม้จะถูกกล่าวถึงบนโลกออนไลน์ลดลง เป็น 64,935 ข้อความ หรือ 2.49% (จากเดิม 3.34%) แต่ยังรั้งอันดับที่ 5ไว้ได้ จากการจำแนกพบการพูดถึงในเชิงบวก 1,654 ข้อความ เชิงทั่วไป 54,812 ข้อความ และ เชิงลบ 8,469 ข้อความ

อันดับ 6 นายสกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 52,016 ข้อความ เชิงบวก 11,030 ข้อความ เชิงทั่วไป 37,764 ข้อความ และ เชิงลบ 3,222 ข้อความ

อันดับที่ 7 น.ต.ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 36,422 ข้อความ เชิงบวก 14,063 ข้อความ เชิงทั่วไป 21,593 ข้อความ และ เชิงลบ 766 ข้อความ

อันดับที่ 8 นายศุภชัย ตันติคมน์ (ขึ้นมาจากอันดับ 9) ถูกกล่าวถึง 5,166 ข้อความ เชิงบวก 49 ข้อความ เชิงทั่วไป 5,063 ข้อความ และ เชิงลบ 54 ข้อความ

อันดับที่ 9 นายธเนตร วงษา (ตกจากอันดับ 8) ถูกกล่าวถึง 1,722 ข้อความ เชิงบวก 6 ข้อความ เชิงทั่วไป 1,706 ข้อความ และ เชิงลบ 10 ข้อความ

อันดับ 10 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ที่ถูกกล่าวถึง 1,068 ข้อความ เชิงบวก 41 ข้อความ เชิงทั่วไป 995 ข้อความ และ เชิงลบ 32 ข้อความ

Social Listening เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำงานด้านการตลาดดิจิทัล นำมาใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูล และสามารถนำใช้เพื่อรับฟังเสียงของผู้คนในโซเชียลมีเดียในช่องทางหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยการนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้คนที่ร่วมสนทนาในโลกออนไลน์ที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ผ่านการแสดงความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร บุคลิก ความคิด นโยบาย รวมถึงการสะท้อนปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข ร่วมเกาะติดสถานการณ์การเลือกผู้ว่าฯ กทม. ด้วยข้อมูลเรียลไทม์ไปกับเรียล สมาร์ท ได้ที่ www.realsmart.co.thและ facebook.com/realsmart.co.th