สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคพื้นที่ “โดรนแปรอักษรเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว” ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
พร้อมนี้ นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ ร่วมกับ พ.ต.อ. ศันย์ชัย พาณิชกุล ผกก.สภ.แม่อาย, นายบุญโรจน์ กองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน แม่อาย จ.เชียงใหม่, นายสมรส พรหมมินทร์ โครงการร้อยใจรักษ์ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและนำเสนอโดรนแปรอักษรมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสใหม่ในการทำงานด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย พร้อมการนำสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพ ดังนั้น ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์และโดรนแปรอักษร จึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่จะได้นำการพัฒนาซอฟต์แวร์ มาสร้างการตอบรับจากผู้บริหารในภาคพื้นที่ ในการจัดทำแผนการท่องเที่ยว และสามารถวัดผลสำเร็จได้ในเชิงเศรษฐกิจ
นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในนามตัวแทนของอำเภอแม่อาย ขอขอบคุณ วช. และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับที่เล็งเห็นถึงอำเภอแม่อายซึ่งเป็นอำเภอขนาดเล็กในจังหวัดเชียงใหม่ การแสดงโดรนแปรอักษรในครั้งนี้ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้บริหารและภาคประชาชนในแม่อายและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึง นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี และสร้างเสริมการท่องเที่ยวในการนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่มาใช้ประโยชน์กับในภาคส่วนต่างๆอีกด้วย
นายสมรส พรหมมินทร์ โครงการร้อยใจรักษ์ กล่าวว่า ขอบคุณ วช. และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่นำโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” มาสนับสนุนการท่องเที่ยวในครั้งนี้ ซึ่งได้ให้ความรู้และความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมโดรนในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างทักษะความรู้ที่ได้รับจากการอบรม มาพัฒนาต่อยอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงานและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ การแสดงบินโดรนแปรอักษรเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับภาพพื้นที่ โดยจัดแสดงบินโดรนแปรอักษรมากกว่า 500 ลำ อาทิ ภาพรถแดง ภาพประตูท่าแพ ภาพพระเจดีย์ ภาพร่มบ่อสร้าง ภาพโคมล้านนา และภาพ Location ซึ่งมีการแสดง 2 รอบต่อวัน ระหว่างวันที่ 26 – 29 มิถุนายน 2567 โดยในแต่ละวันจะมีการนำภาพการออกแบบจากผู้เข้าอบรม มาร่วมแสดงโดรนแปรอักษรที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย