แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จับมือ เขตสุขภาพที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าสานต่อโครงการ Healthy Lung Thailand เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด

0
1534

แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ระดมทีมลงพื้นที่อีสานตอนบน สานต่อโครงการ “Healthy Lung Thailand” ล่าสุด จับมือ เขตสุขภาพที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชุมวิชาการ “Healthy Lung Forum เขตสุขภาพที่ 8 ครั้งที่ 1/2564” เสริมศักยภาพบริการทางการแพทย์แบบ “ปกติวิถีใหม่” รับมือโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยโรคหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด พร้อมยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และการเข้าถึงการบริการเพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษา และจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรม ฟอร์จูน ริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม เมื่อเร็วๆ นี้

นายแพทย์กิตติศักดิ์ ฐานวิเศษ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลนครพนมประธานแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวในโอกาสร่วมงานประชุมวิชาการ Healthy Lung Forum ว่า “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) เป็นกลุ่มของโรคปอดอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก โดยคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) จากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยมากที่สุดในประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.75 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 0.8 ในปี 2563 และสำหรับในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ พบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณ 14,300 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.67 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 0.74 ในปี 2563 โดยจากงานวิจัย Epidemiology and Impact of COPD in Asia ในปี 2555 ความชุกของโรคในประเทศไทยควรมีมากถึงร้อยละ 6.2 หรือประมาณ 127,000 คน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการบริการการรักษาได้เพียงร้อยละ 11.26 เท่านั้น”

“โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ หากได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว มีการตรวจสมรรถภาพปอดโดยเครื่องสไปโรเมตรีย์ จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการรักษา อีกทั้งส่งผลให้สมรรถภาพปอดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในเขตสุขภาพที่ 8 มีปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ ปัญหาของฝุ่น PM2.5 ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว มักจะเกิดฝุ่น หมอกควันจากการเผาอ้อย เผาตอฟางข้าวหลังฤดูทำนา และทำสวนจากพื้นที่ในประเทศ รวมทั้งถูกลมพัดพามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหอบหืดโดยตรง ทำให้อาการกำเริบ และต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก สร้างความสูญเสียต่อผู้ป่วยและญาติ อีกทั้งยังทำให้สมรรถภาพปอดลดต่ำลงในทุก ๆ ปี กระทรวงสาธารณสุขเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่ ในส่วนเขตสุขภาพที่ 8 ได้กำหนด Service plan สาขาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหอบหืด (COPD & Asthma) ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ที่ต้องพัฒนาระบบบริการ โดยพัฒนาคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหอบหืดคุณภาพ พร้อมทั้งวางมาตรการให้การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็วในโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป ถึงโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และลดการเกิดโรค โดยทำงานร่วมกับคลินิกเลิกบุหรี่คุณภาพตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถึงระดับโรงพยาบาลศูนย์ อีกทั้งยังร่วมงานกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนเห็นโทษของการสูบบุหรี่และมีการเลิกสูบหรี่ในทุกกลุ่มวัย”

“จากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรคมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะถูกทำลายจนมีภาวะถุงลมโป่งพอง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปอดได้สูงกว่าคนปกติ และเมื่อปอดถูกเชื้อไวรัสเข้ามารบกวน ก็จะไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัสได้เหมือนคนทั่วไป อีกทั้งยังเมื่อติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปในปอดก็จะทำให้การอักเสบของปอดเกิดได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเมื่อติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปในปอดก็จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่มีปอดปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสามารถปฏิบัติตนได้ ดังนี้ ใช้ยาอย่างต่อเนื่องรวมถึงยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ตามที่แพทย์แนะนำ, สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์, หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ในรายที่มีอาการปกติ อาจให้ญาติไปรับยาแทน, หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนอยู่มากและหากจำเป็นต้องออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยเสมอ, หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบหรือแย่ลง เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น หมอกควันต่าง ๆ รวมทั้งควันบุหรี่ และปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของ โควิด-19 เช่น สวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร”

นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ในโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ของเขตสุขภาพที่ 8 ในปี 2564 ได้มุ่งเน้นและมีเป้าหมาย คือ “ วินิจฉัยเร็ว รักษาด่วน ล้วนลดการกำเริบของโรค” โดยมีแผนวางเครื่องตรวจสไปโรเมตรีย์ให้ทั่วทั้งในเขตสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาคลินิกโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังคุณภาพ สามารถให้การวินิฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้ในโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป ถึงโรงพยาบาลศูนย์ นอกจากนี้นโยบายเขตสุขภาพที่ 8 ยังได้กำหนดให้ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังได้รับวัดซีนไข้หวัดใหญ่ 100% ซึ่งเป็นเขตสุขภาพเดียวในประเทศไทยที่มีนโยบายนี้ เพื่อลดการกำเริบและการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเราทราบดีว่าการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก”

“โดยในปี 2563 นี้ เขตสุขภาพที่ 8 ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนโดยเฉพาะโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างเช่น โครงการ ‘Healthy Lung Thailand’ โดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การเพิ่มองค์ความรู้ในการรักษาโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังใหม่ๆ แบบ New Normal รวมถึงการสนับสนุนทุนการศึกษาอบรมการใช้เครื่องสไปโรเมตรีย์รวมมูลค่า 200,000 บาท เพื่อให้การพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหอบหืด นำไปสู่การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

แนวทาง และจุดมุ่งหมายของการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นเป็นเพียงการบรรเทาอาการของโรคให้ลดน้อยลง การยับยั้งหรือชะลอพยาธิสภาพไม่ให้ดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อคงสมรรถภาพการทํางานของปอดไว้ หรือให้เสื่อมช้าที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งทําให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ดังนั้นจุดมุ่งเน้นของการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือการฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดโดยการให้คำแนะนำให้มีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและการปรับการใช้ชีวิต เช่น การงดสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ การป้องกันการกำเริบของโรค ตลอดจนการได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในปอดทุก ๆ ปี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ วัคซีนที่จำเป็นอื่น ๆ การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และทำให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ในสังคมด้วยความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วยนายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย