“แหลมฉบัง อิมเม็กซ์” โมเดลธุรกิจ Go Green! SME D Bank หนุนเต็มกำลังสู่ความยั่งยืน

0
13

บริษัท แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการธุรกิจด้านไม้ครบวงจร ตั้งแต่ผลิตพาเลทไม้ โรงเลื่อย และชีวมวลอัดแท่ง ทุกกลุ่มธุรกิจเชื่อมโยงให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด เกิดการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง ต่อยอดสู่การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ปัจจุบันและอนาคต นับเป็นต้นแบบเอสเอ็มอียุคใหม่ที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สร้างประโยชน์ดีต่อธุรกิจและดีต่อโลก นำไปสู่ความยั่งยืน โดยมี SME D Bank พร้อมเป็นลมใต้ปีกให้สามารถขับเคลื่อนตามแผนที่วางไว้ได้อย่างไม่มีสะดุด

เอกชัย เอื้ออารีมิตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ จำกัด เล่าว่า เขาและพี่ชาย (เอกศักดิ์ เอื้ออารีมิตร) ก่อตั้งธุรกิจตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตของภาคส่งออกในพื้นที่ เริ่มจากบริษัทเล็กๆ มีพนักงานแค่ประมาณ 10 คน ให้บริการผ่านพิธีการศุลกากร (ชิ้ปปิ้ง) ตามด้วยให้บริการด้านโลจิสติกส์ และขยายเปิดโรงงานประกอบและผลิตพาเลทไม้ โรงเลื่อยไม้ และต่อยอดนำเศษวัสดุ “ขี้เลื่อย” ในการผลิต มาแปรรูปเป็น “ชีวมวลอัดแท่ง” (Wood Pellet)

ตลอดเส้นทางธุรกิจ เอกชัย ระบุว่า ยึดมั่นแนวทางการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเสมอมา เพื่อตอบโจทย์ที่ดีต่อธุรกิจและต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นผลิตพาเลทไม้ด้วยมาตรฐานระดับสูงสุด ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถส่งออกได้ทั่วโลก การันตีการผลิตความปลอดภัยไร้มอดแมลงและเชื้อรา รวมถึง ใช้ไม้จากแหล่งที่สืบค้นได้

“นอกเหนือจากด้านมาตรฐานที่เราต้องการทำให้สูงที่สุดในตลาดแล้ว เรายังสนใจด้าน Sustainability (ความยั่งยืน) แม้ว่า อาจจะต้องแลกด้วยต้นทุนที่สูงกว่า แต่เรายอมแลก เพราะเราเลือกทิศทางธุรกิจที่ไปสู่ Go Green” เอกชัย ย้ำจุดยืน

แนวคิดดังกล่าว สร้างประโยชน์ให้ธุรกิจในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากพาเลทไม้ของ บจก.แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ แม้ราคาจะสูงกว่าตลาดทั่วไป แต่ลูกค้ายินดีที่จะจ่าย เพราะสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีมาตรฐานคุมเข้ม และสอดคล้องกับกฎกติกาการค้าสากล ทำให้มียอดผลิตเติบโตเรื่อยมา จากระยะแรกผลิตเพียงหลักร้อยตัวต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็นหลักหมื่นตัวต่อเดือน และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

การแตกไลน์ขยายธุรกิจในเครือ บจก.แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ โดดเด่นในการนำจุดแข็งเดิมมาต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจใหม่ บนพื้นฐานที่จะช่วยธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แถมสร้างประโยชน์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อโลก หนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาผลิต “ชีวมวลอัดแท่ง” เนื่องด้วยพื้นฐานเป็นธุรกิจเกี่ยวกับไม้ ในกระบวนการแปรรูป จะมีเศษไม้และขี้เลื่อย เหลือทิ้งจำนวนมาก เดิมจะนำไปส่งขายโรงงานทำปาร์ติเกิลบอร์ด หรือโรงย้อมสี ก่อนจะยกระดับมาผลิตชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งมีข้อดี เป็นพลังงานที่ต้นทุนต่ำ สร้างให้เกิดมลพิษน้อย และให้พลังงานสูง อีกทั้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ราคาสูงกว่าการขายเป็นขี้เลื่อยได้ถึงกว่า 3-4 เท่าตัว ขณะนี้ บริษัทฯ มีตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศ รวม 1,500 ตันต่อเดือน

“ในอนาคต ทุกธุรกิจ ทุกองค์กรจะต้องถูกกำหนดเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ดังนั้น เรื่องพลังงานทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทสูงมาก ในอนาคต ตลาด Wood Pellet จะเติบโตอีกมาก อย่างของเรา ที่ผลิตได้ ก็ขายหมดทุกเดือน และยังมีการติดต่อให้ผลิตสูงขึ้นอีกจำนวนมาก” เอกชัย เผยถึงทิศทาง การเติบโตของตลาดชีวมวลอัดแท่ง พร้อมระบุความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะเป็นผู้ผลิต Wood Pellet ควรคำนึงถึงเรื่องต้นทุน เช่น เครื่องจักร และกระบวนการขนส่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เล็งเห็นถึงศักยภาพของ บจก.แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ ได้เข้ามาสนับสนุนเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อยกระดับมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ช่วยให้เอสเอ็มอีรายนี้ สามารถขับเคลื่อนตามแผนธุรกิจที่จะมุ่งสู่ Go Green ได้อย่างไม่มีสะดุด

“SME D Bank เป็นธนาคารที่ตอบโจทย์การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งการเติบโตของ “แหลมฉบัง อิมเม็กซ์” ก็มี SME D Bank เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของบริษัท หลายโครงการจากภาครัฐที่ออกมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บางที SME D Bank ยังติดต่อแนะนำก่อนธนาคารพาณิชย์ที่เราใช้บริการอยู่เสียอีก ผมกล้าพูดได้ว่า SME D Bank ทำงานเชิงรุกในจุดนี้ได้ดี” เขา เผย

ก้าวต่อไปของ บจก.แหลมฉบัง อิมเม็กซ์ ยังคงยึดมั่นแนวทาง Go Green เช่นเดิม และพร้อมจะนำพื้นฐานความรู้และความเชี่ยวชาญไปแก้ปัญหาด้านมลพิษ และสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้ กำลังวิจัยและพัฒนานำ “ใบอ้อย” มาทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาการเผาทิ้งทำลายทางเกษตรที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ

นับเป็นต้นแบบเอสเอ็มอียุคใหม่ที่ไม่เพียงดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ประโยชน์จะหมุนเวียนย้อนกลับ เกื้อหนุนสร้างการเติบโตอย่างสมดุล และนำไปสู่ความยั่งยืน