แม็คโคร ปลุกพลังเอส​ เอ็มอี เกษตรกรไทย  เร่งเพิ่มเครื่องมือเสริมแกร่งทุกช่องทาง ดันแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ขยายตลาดสู่อาเซียน 

0
1339

“เอสเอ็มอี” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มีนัยยะกับมูลค่าจีดีพี หรือผลผลิตมวลรวมของประเทศราว 40% และ “แม็คโคร” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวนี้

“นางสุชาดา อิทธิจารุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร กล่าวว่า ทุกวันนี้แม็คโครเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในหลายบริบท ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้ นอกจากเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตและพันธมิตรคู่ค้ารายเล็ก ที่ส่งสินค้าต่าง ๆ เข้ามาจำหน่ายผ่านแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ  เรายังมีกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย ร้านโชห่วย  และผู้ประกอบการร้านอาหารที่มาซื้อสินค้าของเราเพื่อนำไปจำหน่าย หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารจำหน่าย  ให้กับลูกค้าประชาชนต่อไป ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ นับเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่สำคัญยิ่งในระบบเศรษฐกิจของ  ประเทศไทย 

โดยภายหลังการรับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์  ในปี 2565 แม็คโครมีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะสร้าง “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการและความร่วมมือจากหน่วยงานภายในองค์กร  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการวิจัยและการศึกษาอย่างบูรณาการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ปลุกพลังเอสเอ็มอีสู้ปีเสือ 

ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มากกว่า 3 ล้านราย มียอดขายสินค้าที่คิดเป็นมูลค่าราว 40% ของจีดีพี ก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 80-85% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ที่สำคัญเป็นเรื่องที่ภาครัฐยกมาเป็น วาระแห่งชาติ ในการสนับสนุนและดูแลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้

ตลอดระยะการดำเนินธุรกิจมากว่า 32 ปี แม็คโครได้มีโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอี และเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การเข้าถึงช่องทางจำหน่ายสินค้า เพิ่มโอกาสสร้างยอดขายและทำกำไรมากขึ้น จากการขายสินค้าในราคาส่ง ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งให้การส่งเสริมสภาพคล่อง พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจด้วย” 

จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับแม็คโครในปัจจุบันมีเกือบ 2,000 ราย มีเกษตรกรรายย่อยที่ส่งผักและผลไม้ให้แม็คโครมากกว่า  7,500 ครัวเรือน เกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงโคอีกกว่า 10,000 ราย ฯ รวมถึงมีลูกค้าสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) กว่า 500,000 ราย และผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจจัดเลี้ยงและโรงแรม (โฮเรก้า) รวมกว่า 300,000  ราย

ซึ่งในปีที่ผ่านมา แม็คโคร ได้รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ  20  หรือกว่า 200,000 ตัน พร้อมเปิดพื้นที่ฟรีหน้าสาขาให้ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโควิดมาจำหน่าย เปิดคอร์สการสอน online เพื่อเพิ่มศักยภาพและความรู้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอาหารที่ได้รับผลกระทบกว่า 3,000 ราย  นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ปลากะพง กุ้งขาว และได้ร่วมลงนาม MOU กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการรับซื้อและพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่, พัฒนาผลิตภัณฑ์ของคู่ค้าเอสเอ็มอีเพื่อปรับตัวรับพฤติกรรมการบริโภควิถีใหม่ อาทิ การส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง พร้อมทานแช่แข็ง เป็นต้น

“ด้วยความเชี่ยวชาญของแม็คโครในด้านการคัดสรรและจัดซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและหลากหลาย สำหรับ B2B หรือผู้ประกอบการ ทำให้ในทุกปี เราได้วางเป้าหมายรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรรายย่อย และ เอสเอ็มอีรายใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางให้ธุรกิจรายเล็กๆ เติบโตและอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ สอดคล้องไปกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน”

เพิ่มเครื่องมือดิจิทัล รุกอี-คอมเมิร์ซ

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  นับเป็นตัวเร่งให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยลูกค้าและประชาชนหันมาสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น  ส่งผลให้ทุกแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้าที่แม็คโครนำมาใช้ สามารถตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น  นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้า ให้มีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายด้วยเช่นกัน

“เรามีบริการทั้งระบบสั่งออนไลน์ Makro Click การสั่งผ่าน Line Official ที่มีประสิทธิภาพ หรือใช้โทรศัพท์ก็มีทีมงานรับสายและคีย์ออร์เดอร์เข้าระบบออนไลน์ให้ไปส่งได้ หรืออาจจะยกหูโทรศัพท์สั่งให้สาขาจัดของไว้ให้และส่งให้ที่จอดรถก็ได้ เพราะผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบาย ปลอดภัย ได้สินค้าตามต้องการ ใช้เวลาน้อย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี และเราก็จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาระบบต่อไป อย่างต่อเนื่องด้วย”

“กลยุทธ์สำคัญนับจากนี้ของเราคือการสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจที่มีรูปแบบร้านค้าและช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย (Omni-Channel) โดยจะผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) สร้างระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อต่อยอดธุรกิจรายย่อยและขับเคลื่อนการเติบโตด้วยเทคโนโลยี”

ดัน”แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” จับมือรายเล็กโกอินเตอร์

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเอสเอ็มอี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4  ประการคือ

  • การพัฒนาช่องทางการตลาด ผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านเครือข่ายสาขาแม็คโครในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีแผนการลงทุนขยายสาขาเพิ่มเติมในอนาคต
  • การพัฒนากลุ่มคนเอสเอ็มอี  เกษตรกรไทย ในด้านองค์ความรู้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และยกระดับผู้ผลิตสินค้ารายย่อยสู่การเป็น ‘Smart SMEs’  
  • สนับสนุนการเชื่อมต่อกับสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับการขยายธุรกิจและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
  • ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอื่นเพื่อพัฒนาและสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ฯลฯ

“เรามุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันด้านการพัฒนาคุณภาพและเสริมศักยภาพการส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชีย สร้างการยอมรับในมาตรฐานสินค้าไทยสู่ระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีคู่ค้าของเราหลายราย ส่งสินค้าไปจำหน่ายในเมียนมา กัมพูชา และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศ“

“แม้ว่า ปี 2565 จะเป็นอีกปี ที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่ด้วยนโยบายภาครัฐ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับการสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสเพื่อเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย อย่างเต็มที่ของแม็คโคร เรามั่นใจว่าจะมีสิ่งดีๆ  ที่จะช่วยให้ปีนี้เป็นปีที่สดใส ของผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี อย่างแน่นอน” นางสุชาดา กล่าวทิ้งท้าย